สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 41: ม่านตาอักเสบ Sympathetic ophthalmia

ภาวะ Sympathetic ophthalmia เป็นการอักเสบของชั้นกลาง(ชั้น Uvea) ของเปลือกลูกตาที่เรียกกันว่า Uveitis ในตาทั้ง 2 ข้าง ภาษาไทยมักเรียกกันว่า “ม่านตาอักเสบ” แต่แท้ที่จริงมีการอักเสบทั้ง ม่านตา และ เนื้อเยื่อที่ชื่อ choroidซึ่งอยู่ชั้นเดียวกับม่านตาแต่อยู่ด้านหลังของลูกตา โดยที่มีอุบัติเหตุในตาข้างเดียวขั้นรุนแรงมีการฉีกขาดของลูกตา โดยในระยะแรกมีการอักเสบเฉพาะตาข้างที่ได้รับอุบัติเหตุ เวลาต่อมาตาข้างดี จะมีการอักเสบตามมา จึงกลายเป็นการอักเสบของตาทั้ง 2 ข้าง แม้จะได้รับอุบัติเหตุเพียงตาเดียวก็ตาม

โรคนี้มีกล่าวไว้ตั้งแต่สมัยบิดาแห่งวงการแพทย์ Hippocratis ว่า หากตาข้างหนึ่งได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรง ตาอีกข้างจะถูกกระทบโดยมีการอักเสบไปด้วย แต่ไม่ทราบสาเหตุของความผิดปกติของตาดี จึงเรียกภาวะนี้ว่า Sympathetic opthalmia ซึ่งหากจะแปลคำศัพท์นี้เสมือนหนึ่งว่า ตาดีเห็นใจตาที่ได้รับอุบัติเหตุรุนแรง จึงซับความอักเสบนั้นด้วย อย่างไรก็ตามราว ค.ศ. 1840 Will Machenzie ได้อธิบายถึงภาวะนี้อย่างละเอียดและมีผู้พิสูจน์ด้วยพยาธิวิทยาอย่างชัดเจนว่ามีอาการแสดงที่ตรวจพบทั้งการตรวจตาและการตรวจเนื้อเยื่อทางกล้องจุลทรรศน์ พบลักษณะของ Uveitis อย่างรุนแรงเหมือนโรคนี้ในภาวะอื่น แต่ทางจุลพยาธิจะแตกต่างกับอย่างอื่นที่แยกจากกันได้

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ คือ ผู้ได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตาถึงขั้นมีการฉีกขาด หรือมีรูทะลุทั้งที่อาจมีหรือไม่มีวัสดุแปลกปลอมฝังอยู่ในตาก็ตาม โดยเฉพาะในผู้ที่มีการฉีกขาดขนาดกว้างจนสิ่งต่างๆ ภายในลูกตาทะลักออกมา ที่เห็นได้ชัดจะมีสีดำคล้ำของม่านตา มาจุกที่แผล หรือมีรอยฉีกขาดบริเวณตาขาวต่อตาดำ (Limbus) พบได้แม้ในผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดตาบางชนิด (โอกาสเกิดจากการผาตัด พบน้อยมาก) มีรายงานว่าพบภาวะนี้ได้ร้อยละ 0.2 – 0.5 ในตาฉีกขาดจากอุบัติเหตุ หรือ 1 ในผู้มีตาฉีกขาด 500 ราย สำหรับการผ่าตัดตาพบได้ร้อยละ 0.01 หรือ 1 ใน 10000 ราย ในปัจจุบันด้วยเทคนิคการผ่าตัดที่ดีขึ้น และมีกล้องจุลทรรศน์ที่เพิ่มความแม่นยำในการทำผ่าตัด อุบัติการณ์ของโรคนี้ลดลงโดยเฉพาะการเกิดตามหลังการผ่าตัด

ระยะเวลาของการเกิดโรค พบได้หลังจากอุบัติเหตุ 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน แต่ก็มีรายงานว่าอาจพบหลังมีอุบัติเหตุ 50 ปี หรือภายใน 1 สัปดาห์ หลังอุบัติเหตุ แต่เป็นส่วนน้อยมาก

ปัจจุบันเชื่อว่าโรคนี้ เป็นปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune mediated) ต่อสารเม็ดสีที่อยู่ภายในชั้นม่านตา เมื่อตาได้รับอุบัติเหตุ สารเม็ดสีที่ว่านี้หลุดจากม่านตาเข้ามาในกระแสเลือดและน้ำเหลือง สารนี้จะเป็นตัวกระตุ้น (Antigen) ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) และด้วยสารเม็ดสีนี้เป็น Organ specific คือ เจาะจงให้เกิดปฏิกริยาของ Ag – Ab เฉพาะภายในดวงตา ไม่ไปสู่อวัยวะอื่นจึงเกิดภาวะอักเสบของ Uvea เฉพาะในดวงตาได้ทั้ง 2 ตา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บตา ปวดตา ตาแดง ตามัว ในตาทั้ง 2 ข้าง ตรวจพบลักษณะของการอักเสบจะเป็นแบบ Uveitis ทั่วๆ ไป มีเซลล์อักเสบภายในช่องหน้าตาอาจมากจนเห็นเป็นหนองในช่องหน้าตา (Hypopyon) หากไม่ได้รับการรักษา การอักเสบ จะทำลายส่วนต่างๆ ภายในลูกตา ก่อให้เกิด ต้อหิน ต้อกระจก และ/หรือ ถึงขั้นตาบอดได้ในที่สุด หากรีบมาพบแพทย์ ให้ยาลดการอักเสบจะทำให้โรคลดความรุนแรงลง แต่การป้องกันมิให้เกิดภาวะนี้ย่อมดีกว่า

การป้องกันและรักษา ภาวะนี้

  1. ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบริเวณดวงตา หากทำงานที่เสี่ยงต่อการกระเด็นขอวัสดุต่างๆ การถูกของมีคม ควรมีแว่นนิรภัยหรือโล่ห์กำบังดวงตา หากตาไม่เกิดอุบัติเหตุก็จะไม่พบภาวะนี้
  2. หากเกิดอุบัติเหตุบริเวณใบหน้าและคาดว่าน่าจะมีการฉีกขาดของดวงตา ควรรีบพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
  3. ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าภาวะนี้เกิดจากสารเม็ดสีจากม่านตาเข้าไปในกระแสเลือด การรีบขจัดสารนี้ออก หากมีการฉีกขาดจนสารนี้ออกมานอกตาด้วยการล้างออกให้มากที่สุด และปิดแผลฉีกขาดโดยเร็วจะป้องกันภาวะนี้ได้ หากบาดแผลใหญ่มากยากที่จะขจัดสารนี้ออกให้หมด อีกทั้งตาที่ได้รับอุบัติเหตุนี้มีการช้ำและอวัยวะภายใน ลูกตาหลุดออกมามากจนคาดได้ว่าตาข้างนี้คงสูญเสียสายตาโดยสิ้นเชิง การผ่าตัดเอาตาที่ได้รับอุบัติเหตุออก โดยเฉพาะหากทำภายใน 2 สัปดาห์ อาจป้องกันปฏิกิริยานี้ได้ เนื่องจากเชื่อว่าสารสีที่จะกระตุ้นให้เกิดถูกเอาออกหมดไป แต่หากคาดว่าตานี้ยังไม่เสียหายมากนัก ยังน่าจะมีสายตาเหลืออยู่ ควรรีบทำความสะอาดล้างสารสีนี้ให้หมด ร่วมกับเย็บปิดแผลตาที่ฉีกขาด

อย่างไรก็ตามด้วยปัจจุบันมียาระงับการอักเสบที่ดีขึ้น หากพบภาวะนี้ แพทย์มักจะให้ยาและสามารถป้องกันมิให้เสียตาได้มากกว่าสมัยเก่ามาก ภาวะนี้จึงควบคุมได้ดีขึ้นในปัจจุบัน