สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 37: เลือดออกในน้ำวุ้นตา (Vitreous haemorrhage)

น้ำวุ้นในตาปกติไม่มีสี จะใส มีความหนืดเล็กน้อย ไม่มีหลอดเลือด แต่ยอมให้แสงผ่านไปได้ จึงเกิดการมองเห็นขึ้น การมีเลือดในน้ำวุ้นตา ทำให้บดบังการมองเห็นเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความตกใจแก่ผู้ป่วยอย่างมากด้วยเหตุที่ทำให้เกิดตามัวอย่างฉับพลันและมัวมากขึ้นๆตามจำนวนเลือดที่ออก ส่วนใหญ่เป็นอาการแสดงของโรคตาส่วนอื่นมิใช่โรคของน้ำวุ้นตาเอง แม้ว่าเลือดออกในน้ำวุ้นตาบางรายเลือดอาจจางหายไปได้เองในระยะเวลาต่างๆกัน ขึ้นกับจำนวนเลือดที่ออกและภาวะของน้ำวุ้นตา บางรายอาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดเอาเลือดออก ผู้ป่วยบางรายเมื่อเลือดแห้งแล้วสายตากลับคืนปกติ แต่บางรายเมื่อสายตาดีขึ้นแล้วไม่รักษาหรือควบคุมภาวะต้นเหตุอาจทำให้ ตาบอดโดยไม่มีทางแก้ไขในเวลาต่อได้

เลือดที่ออกนี้มาจากไหน?

อวัยวะใกล้น้ำวุ้นตา ได้แก่ จอตา และเนื้อเยื่อตาที่เรียกว่าคอรอยด์ (retina and choroid) ซึ่งเป็นส่วนที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมากมาย หากมีพยาธิสภาพเกิดที่ 2 ชั้นนี้ ทำให้มีเลือดออกและเลือดจะทะลุออกมาสู่น้ำวุ้นตาในที่สุด การเกิดภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตาอาจพบได้จาก 4 แหล่ง ได้แก่

  1. หลอดเลือดเกิดใหม่ที่จอตาหรือที่ขั้วประสาทตา (neovascularization of retina and disc) หลอดเลือดเกิดใหม่บริเวณนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นผลจากการขาดเลือดที่จอตาจากสาเหตุใดก็ตาม เมื่อหลอดเลือดปกติไม่พอเลี้ยงจอตา ร่างกายจะสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นเองมาทดแทนที่บริเวณผิวจอตาและขั้วประสาทตา หลอดเลือดใหม่นี้ไม่เหมือนหลอดเลือดปกติ มีความเปราะบางพร้อมที่จะฉีกขาดแม้เพียงน้ำวุ้นตาขยับ ก็อาจแรงพอทำให้หลอดเลือดใหม่ฉีกขาด เป็นเหตุให้มีเลือดไหลเข้าน้ำวุ้นตา ภาวะที่จอตาขาดเลือดมักพบในผู้ป่วยเบาหวาน มีภาวะเบาหวานเข้าจอตา(เบาหวานขึ้นตา) หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน การอักเสบของหลอดเลือดจอตาจากโรคบางอย่าง เป็นต้น
  2. การฉีกขาดของหลอดเลือดจอตาที่ปกติ แม้ว่าหลอดเลือดปกติจะแข็งแรงกว่าหลอดเลือดเกิดใหม่ แต่หากมีแรงกระแทกหรือดึงรั้งอย่างแรงทั้งจากภายในหรือภายนอกลูกตา อาจทำให้หลอดเลือดปกตินี้ฉีกขาดได้ ที่พบบ่อย คือการดึงรั้งภายในตาจากภาวะหลุดของน้ำวุ้นตา (PVD) บางครั้งอาจแรงจนทำให้หลอดเลือดปกติของจอตาฉีกขาด ในบางกรณี การเบ่ง ไอ จาม หรืออาเจียนอย่างแรง ทำให้เพิ่มแรงดันของหลอดเลือดดำที่จอตา เป็นเหตุให้เส้นเลือดฝอยที่จอตาฉีกขาดได้
  3. หลอดเลือดจอตาผิดปกติ มีพยาธิสภาพของตัวหลอดเลือดที่พบได้ เช่น ภาวะหลอดเลือดโป่งพอง (macroaneurysm) ซึ่งมักพบร่วมกับการมีความดันโลหิตสูง
  4. มีรอยโรคใต้จอตา หรือในชั้นคอรอยด์ ทำให้มีเลือดออกที่จอตาหรือที่คอรอยด์ แล้วเลือดดันออกมาเข้าสู่น้ำวุ้นตาได้ เช่น ภาวะจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD) เนื้องอกในชั้นคอรอยด์ (melanoma) เป็นต้น

มีการรายงานหลายๆรายงานพบว่า ภาวะที่ก่อให้เกิดเลือดออกในน้ำวุ้นตา ได้บ่อย 3 อันดับแรก เรียงตามลำดับดังนี้

  1. ภาวะเบาหวานขึ้นตา (Proliferative diabetic retinopathy)
  2. น้ำวุ้นตาส่วนหลังหลุดจากขั้วประสาทตา(PVD) ที่มีหรือไม่มีโรคจอตาเข้าร่วมด้วย
  3. หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน