สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 33: สายตาผิดปกติที่รู้สาเหตุ (secondary sight)

สายตาผิดปกติ ทั้งสั้น ยาว เอียง ที่พูดกันทั่วๆ ไป เป็นผลจากการไม่สมดุลกันของกำลังหักเหของแสง (เกิดจากกระจกตาและแก้วตา) ไม่สอดคล้องกับความยาวของลูกตา ทำให้ภาพไม่โฟกัสที่จอตา จึงมองไม่ชัดเป็นสายตาผิดปกติที่ไม่รู้สาเหตุชัดเจน

ยังมีอีกภาวะหนึ่งที่แต่เดิมมีสายตาปกติหรือมีแต่ไม่มาก เมื่อเป็นโรคดังกล่าวเกิดภาวะสายตาผิดปกติมากขึ้นได้ ได้แก่

  1. เบาหวาน ในช่วงที่น้ำตาลในเลือดสูง แก้วตาจะบวมน้ำ (lens luzdration) เพิ่มความโค้งของแก้วตาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้กำลังหักเหของแสงผิดไป หรือบางรายดัชนีการหักเหของแสง (lens index) เปลี่ยนไปเกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราวได้ ผู้ป่วยเบาหวานบางรายการบวมของแก้วตา อาจทำให้ความโค้งแบนลงก่อให้เกิดสายตายาวได้ (พบน้อยกว่าตาสั้น) ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมไม่ดีจึงอาจเกิดภาวะสายตาสั้นหรือสายตายาวชั่วคราวได้ เมื่อควบคุมเบาหวานได้ดีสายตาจะกลับมาเหมือนเดิม

    นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้ป่วยเบาหวานบางราย อาจเกิดภาวะสายตาผู้สูงอายุเร็วกว่าคนทั่วไป (early presbyope) กล่าวคือ คนปกติสายตาผู้สูงอายุจะเริ่มเมื่ออายุ 40 ปี ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจเริ่มก่อนอายุ 40 ปี

  2. ภาวะไตวาย (uremia) มีของเสียคั่ง ทำให้ osmalarity เปลี่ยนไปเกิดภาวะสายตาผิดปกติเปลี่ยนไป
  3. โรคทางกายที่ทำให้ภาวะเกลือแร่ (electrolyte) ในเลือดเปลี่ยนไป แม้แต่ขณะตั้งครรภ์ ระหว่างมีประจำเดือน ท้องเสีย ร่างกายอ่อนเพลีย อยู่ในภาวะขาดน้ำทำให้แก้วตาขาดน้ำ ความโค้งเปลี่ยนไปเกิดสายตาผิดปกติได้
  4. ยาที่รับประทานรักษาโรคทางกาย บางตัวอาจทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราวได้ เช่น ยาประเภท sulfa ยารักษาโรค Parkinson ยา chlroquine , ยาในกลุ่ม phenothiagine ตลอดจนยารักษาโรคปวดท้อง ทำให้ความสามารถในการเพ่ง (accommodation) ลดลง สายตาจึงเปลี่ยนไป
  5. ความผิดปกติทางตาบางอย่าง เช่น
    1. มีก้อนเนื้อผิดปกติที่เบ้าตาดันลูกตาให้ผิดรูป อาจทำให้มีสายตาผิดปกติเป็นสั้นหรือเอียงเพิ่มขึ้นแล้วแต่ว่าก้อนเนื้อที่เบ้าตานั้นดันลูกตาบริเวณใด
    2. ในผู้ป่วยที่ลูกตายาวมาก (สายตาสั้น) ตาขาวอ่อนแอโดยเฉพาะส่วนหลังทำให้มีการยื่นออกไปข้างหลังของลูกตาเกิดภาวะที่เรียกว่า Staphyloma ทำให้วัดได้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้
    3. การเกิดต้อกระจกทำให้การหักเหของแสงของแก้วตาเปลี่ยนไป เกิดภาวะสายตาสั้นดังที่เราพบเห็นในผู้ป่วยต้อกระจกบางราย เกิดภาวะสายตาสั้นทำให้อ่านหนังสือได้ โดยไม่ต้องใช้แว่นสายตา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นอ่านหนังสือต้องใส่แว่นที่เรียกว่า secondary myopia หรือ secondary sight
    4. แม้บางคนมีตุ่มที่เปลือกตาจากการเป็นกุ้งยิง หรือ chalazion ทำให้ตุ่มนี้ไปกดลูกตาทำให้เกิดสายตาผิดปกติ มักจะก่อให้เกิดสายตาเอียงชั่วคราว
    5. ต้อเนื้อที่ลามเข้ากระจกตามากขึ้น อาจถึงริ้วกระจกตาเกิดภาวะสายตาเอียงชั่วคราว
    6. ภาวะแก้วตาเคลื่อนที่ซึ่งอาจเกิดจากเป็นเองจากเส้นโยงยึดแก้วตาไม่แข็งแรง จากโรคทางกายที่พบเห็น Marfan’ s หรือ Marchesani’ s ตลอดจนจากอุบัติเหตุจนแก้วตาเคลื่อน ทำให้สายตาเปลี่ยนไปเป็นสั้น เอียง ยาว ได้
    7. ความผิดปกติของจอตาส่วนกลาง เช่น ภาวะ central serous retinopathy ทำให้จอตานูนขึ้นมา เกิดภาวะสายตายาวชั่วคราวได้
    8. แม้แต่ยาต้อหินที่ใช้หยอดตาบางตัวทำให้เร่งภาวะเพ่ง (accomative spasm) ทำให้สายตาสั้นเพิ่มได้
    9. การทำผ่าตัดตาในผู้ป่วยบางโรค เช่น จอตาหลุดลอก การรัด และหนุนด้วย silicone ที่ลูกตาส่วนหลังอาจเพิ่มสายตาสั้น เอียง ได้

โดยสรุป หากตรวจพบว่าผู้ป่วยมีสายตาสั้น เอียง ยาว เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก โดยไม่น่าจะเป็น ควรซักประวัติสอบถามโรคประจำตัว การใช้ยา หากสงสัยภาวะสายตาสั้นในกลุ่มนี้ อย่าเพิ่งรีบด่วนเปลี่ยนแว่นสายตา อาจทำให้สิ้นเปลือง ทั้งๆ ที่เมื่อภาวะดังกล่าวหายดี สายตาจะกลับมาเหมือนเดิม