สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 32: สาเหตุตาบอดในคนไทย

จากการสำรวจสาเหตุตาบอดของประชากรโลกขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี พ.ศ. 2553 พบว่า เกิดจากโรคต้อกระจก 51% ต้อหิน 8 % โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (age related macular degeneration) 5 % ตาดำเป็นฝ้า 4 % ริดสีดวงตา 3 % จอตาเสื่อมจากเบาหวาน (เบาหวานขึ้นตา) 1 % จากพยาธิในตา onchocerciasis 0.1 % และจากสายตาผิดปกติ 17.8 %

ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีเศรษฐานะดีจะมีความชุกของคนตาบอด 0.1–0.4 % โดยส่วนใหญ่เป็นโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ต้อหิน จอตาเสื่อมจากเบาหวาน โรคทางกรรมพันธุ์ โรคที่ไม่ทราบสาเหตุชัดหรือโรคที่รักษาไม่ได้ ส่วนประเทศด้อยพัฒนาพบตาบอดได้ 0.5 – 1.5 % และมีสาเหตุจาก โรคต้อกระจก แผลที่ตาดำ ภาวะขาดวิตามินเอและพยาธิในตา

สำหรับประเทศไทย มีการสำรวจประชากรดูว่ามีจำนวนคนตาบอดเท่าใด ทำกันมา 4 ครั้ง ได้แก่ เมื่อปี พ.ศ. 2526 , 2530 , 2537 และ เมื่อปี 2550 พบว่ามีจำนวนคนตาบอดเป็น 1.14 % (574, 470 คน) , 0.58 % (309 , 860 คน) , 0.31 % (180, 704 คน) และ 0.59 % (369 , 613 คน) ตามลำดับ

การสำรวจทั้ง 4 ครั้ง พบว่า สาเหตุมาจากต้อกระจกมากที่สุด โดยพบเป็นสาเหตุ 47 % (ครั้งที่ 1) , 71.3 % (ครั้งที่ 2) , 74 % (ครั้งที่ 3) , 51.6 % (ครั้งที่ 4) และพบว่าหลังการสำรวจแต่ละครั้งพบว่ามีผู้ป่วยโรคต้อกระจกตกค้างรอรับการผ่าตัดในแต่ละครั้งของการสำรวจเป็น 270,000 คน (ครั้งที่ 1), 220,000 (ครั้งที่ 2), 134,000 (ครั้งที่ 3), และ 98,336 (ครั้งสุดท้าย)

และในการสำรวจครั้งสุดท้ายที่มีตาบอด 0.59 % นั้น เกิดจากต้อกระจก 56.61 % ต้อหิน 10.41 % จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ 3.88 % ตาดำเป็นฝ้าขาว 1.23 % ประสาทตาฝ่อ 1.41 % จอตาเสื่อมจากเบาหวาน 4.76 % สายตาผิดปกติโดยไม่ได้แก้ไข 14.11 %

จากการสำรวจครั้งสุดท้าย มีผู้ป่วยต้อกระจกตกค้างลดจากเดิมมาก แสดงถึงประสิทธิผลของการรณรงค์ผ่าตัดต้อกระจกในชุมชนในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ต้อกระจกยังพบเป็นสาเหตุหลักเพราะเป็นโรคที่พบได้เกือบทุกคนที่สูงอายุ อายุยิ่งมากยิ่งมีโอกาสเป็นมาก เป็นความเสื่อมของแก้วตาจากอายุที่มากขึ้น ประชากรไทยมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น จึงพบโรคจากความเสื่อมตามวัยมากขึ้น หากเราสามารถให้บริการผ่าตัดรักษาโรคต้อกระจกให้ทันกับอุบัติการของต้อกระจกที่เกิดขึ้นใหม่ ต้อกระจกไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับคนไทยอีกต่อไป แต่โรคที่รักษายากหรือรักษาไม่ได้กลับจะเป็นสาเหตุมากขึ้น

อนึ่ง ตาบอด หมายถึงตาข้างที่ดีที่สุดเห็นน้อยกว่า 3/60 หน่วยวัด ไปจนถึงบอดสนิทไม่เห็นแม้แต่แสง หรือผู้มีลานสายตาน้อยกว่า 10 องศาลงมา

แนวโน้มในอนาคต

คาดว่าจำนวนคนตาบอดอาจจะคงตัวหรือเพิ่มขึ้นได้บ้าง แม้ว่าการให้บริการดูแลรักษาโรคตาจะกระจายได้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งตาบอดน่าจะลดลง แต่ประชากรมีแนวโน้มมีอายุยืนขึ้น จากการสำรวจประชากรไทย พบว่าเมื่อปี ค.ศ. 1960 มีประชากรสูงอายุ 5 % ปีค.ศ. 1980 เพิ่มเป็น 6 % ปี ค.ศ. 2010 มีถึง 11 % คาดว่า ปีค.ศ. 2020 จะมี 15 % ผู้สูงอายุมีโอกาสตาบอดมากขึ้น เนื่องจากโรคที่ทำให้ตาบอดมักเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมตามวัย อีกประการหนึ่งโรคที่เป็นสาเหตุ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือโรคที่รักษายากขึ้น เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ต้อหิน จอตาเสื่อมจากเบาหวาน น่าจะเป็นปัญหามากขึ้น การดูแลสุขภาพตาของคนไทยอาจจะต้องปรับวิธีการใหม่ เพราโรคดังกล่าวรักษายาก ใช้ทุนทรัพย์มากขึ้น