สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 31: Omega 3 กับตาแห้ง

ในวารสาร Medscape News ได้บอกถึงข่าวสุขภาพจากสำนักข่าว Health Reuter จากมหานคร New York เมื่อ 27 พฤษภาคม 2013 โดยรายงานว่า

มีการศึกษายืนยันว่า Omega 3 (โอเมกา 3) สามารถบรรเทาอาการตาแห้งลงได้ โดยจากการศึกษาของ Dr. Kangari จากอิหร่าน โดยให้ Omega 3 กับผู้ป่วย เป็นเวลา 30 วัน เทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่เป็นกลุ่มควบคุมพบว่า ในกลุ่มที่ใช้ Omega 3 อาการตาแห้งดีขึ้น 26 % ในขณะที่กลุ่มควบคุมกลับมีอาการเลวลง 4 % และจากการตรวจน้ำตาที่เรียกว่า Tear break up time (TBT) ซึ่งถ้าตาแห้ง จะมีค่าการตรวจลดลงพบว่า ในกลุ่มที่กิน โอเมกา 3 มีค่า TBT เพิ่มขึ้น 71 % โดยมีค่าจาก 3.9 วินาทีเพิ่มเป็น 5.67 วินาที ในขณะที่กลุ่มควบคุมค่า TBT ดีขึ้น 33 % โดยมีค่าเฉลี่ยจาก 4.5 เป็น 4.7 วินาที และค่าการตรวจที่เรียกว่า Schirmer’ s test ดีขึ้นในกลุ่มได้โอเมก้า 3, 22.3 % ในขณะที่กลุ่มควบคุมดีขึ้น 5.1 %

Omega 3 เป็นไขมันจำเป็น (essential fatty acid) ชนิดที่มีสาร carbon ไม่อิ่มตัวเหลืออยู่ (Poly unstaturated fatty acid) ประกอบด้วยสาร Linolenic acid ,สาร Eicosapentaenoic acid (EPA), และสาร Docosahexaenic acid (DHA) ตัว Omega 3 นี้ เราเริ่มรู้ว่าเป็นไขมันจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1930 และราวปี ค.ศ. 1990 เริ่มรู้กันว่ามันเป็นสารที่ดีต่อสุขภาพ และร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ ต้องรับประทานจากอาหารเข้าไป

เชื่อกันว่า Omega 3 มีประโยชน์ต่อสุขภาพเราหลายอย่าง อาทิ เช่น

  1. ลดอัตราเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ
  2. ลดไขมันชนิด Triglyceride ในเลือด
  3. เชื่อว่าเป็นตัวสำคัญในการพัฒนาเซลล์ของสมองและเซลล์จอตา ลดอาการซึมเศร้า (depression) และป้องกันโรคอ alzheimer
  4. ควบคุมความดันโลหิต
  5. ลดการเกิดลิ่มเลือด
  6. ลดการอักเสบในบางสภาวะ เช่น ในโรค rheumatoid หรือในโรคผิวหนังบางชนิด
  7. ลดอาการปวดท้องประจำเดือน (dysmemorrhea) จากการลดการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก
  8. ช่วยให้อาการตาแห้งดีขึ้น

แล้ว Omega 3 มีอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง จากการสังเกตชาวเอสกิโมซึ่งรับประทานแต่อาหารทะเล ประเภทปลาทะเลน้ำลึกไม่ค่อยเป็นโรคหัวใจ หรือ โรคไขมันในเลือดสูง พบว่าอาหารที่ชาวเอสกิโมรับประทานมากนี้เต็มไปด้วย Omega 3 นี่เอง สาร Omega 3 พบมากในปลาทะเลต่างๆ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า (แม้แต่ทูน่ากระป๋องก็พบว่ามีสาร Omega 3 ค่อนข้างมาก) ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอรัล ปลาและไข่ปลาคาร์เวีย สำหรับปลาน้ำจืดในบ้านเราก็มีสาร Omega 3 อยู่ เช่น ปลาช่อน ปลาบู่ ปลาเนื้ออ่อน สำหรับผู้ที่ไม่รับประทานสัตว์พบว่า Omega 3 มีอยู่ในพืชทะเล (algae) ลูกกีวี ถั่วต่างๆ ข้าวโพด พบว่าแม้แต่นมแม่ก็มี Omega 3 ค่อนข้างมาก

การรับประทานอาหารเสริมหรือตัว Omega 3 ที่ขายตามท้องตลาด แพทย์หลายๆ ท่านยังไม่แนะนำว่าจำเป็น เพราะการรับประทานมากเกินไปก็มีผลทำให้ผู้นั้นมีเลือดออกง่าย มีโอกาสหลอดเลือดสมองแตกง่าย และขนาดที่เหมาะสมของ Omega 3 ยังไม่ทราบแน่ชัด จึงน่ารับประทานอาหารที่มีสาร Omega 3 มากก็เพียงพอแล้ว

Omega 3 ทำให้อาการตาแห้งดีขึ้นได้อย่างไร น่าจะเกี่ยวกับฤทธิ์ของ Omega 3 ทำให้

  1. ลดขบวนการอักเสบ ในผู้ที่มีภาวะตาแห้งมักจะมีการอักเสบเล็กๆ น้อยๆที่เยื่อบุตาซึ่ง เสริมอาการตาแห้งให้มากขึ้น ตัว Omega 3 ลดการอักเสบจึงทำให้อาการตาแห้งดีขึ้น
  2. เชื่อว่ามีการปรับชั้นไขมันในน้ำตา (lipid layer ใน tear film) ทำให้น้ำตาระเหยน้อยลง
  3. มีการตรวจพบว่ามีการสร้างน้ำตาเพิ่มขึ้น