สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 29: การชะลอสายตาสั้นด้วยการอยู่ในที่แจ้ง

เร็วๆ นี้มีวารสารทางจักษุซึ่ง Medscape Ophthalmology เดือนพฤษภาคม 2013 ได้กล่าวถึง การชะลอสายตาสั้นโดยให้เด็กอยู่กลางแจ้งมากขึ้น

มีรายงานพบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1971 – 1972 พบว่ามีประชากรสายตาสั้น 25% นับแต่ปี 1999 – 2004 พบว่ามีสายตาสั้นเพิ่มเป็น 41.6% ในประเทศไต้หวันพบว่าปัญหาสายตาสั้นในเด็กวิทยาลัยจากเดิมพบ 10% เพิ่งเป็น 90% คาดกันว่าสายตาสั้นน่าจะเป็นปัญหาสำคัญมากขึ้น จึงได้ทำการวิจัยในประเทศจีน โดยแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม ทั้ง 2 กลุ่มมีกิจกรรมกลางแจ้ง 2 ช.ม. ต่อสัปดาห์เช่นเดียวกัน กลุ่มแรกมีโปรแกรมเพิ่มโดยเมื่อพักระหว่างชั่วโมงจะให้เด็กออกนอกห้องไปอยู่กลางแจ้ง ประมาณ 6 – 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเด็กอีกกลุ่มหนึ่งให้คงอยู่ในห้องไม่มีกิจกรรมนี้ เป็นเวลา 1 ปี พบว่าเด็กกลุ่มแรกมีเด็กสายตาสั้นใหม่ (new case) 8.41% ส่วนกลุ่มที่สองพบ 17.65% กลุ่มแรกมีสายตาสั้น -0.25 D ส่วนกลุ่มที่สองมีสายตาสั้น -0.38 D

มีอีกการศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับความสว่าง แสงธรรมชาติต่อการเกิดสายตาสั้น ในประเทศเดนมาร์ค ฤดูหนาวมีแดด 7 ชม.ต่อวัน แต่ในฤดูร้อน 17.5 ชม. / วัน โดยเฉลี่ยจะพบแสงธรรมชาติ 1681 ชม. ในเวลา 6 เดือน (หน้าหนาว) ขณะที่หน้าร้อนมีแสงแดด 2782 ชม. ในเวลา 6 เดือน พบความแตกต่างของสายตา ความยาวลูกตา ตลอดจนกำลังของกระจกตา แตกต่างกันชัดเจน ในหน้าหนาว มีความยาวลูกตาเพิ่มขึ้น 0.19 + 0.10 มม. ขณะที่หน้าร้อนเป็น 0.12 + 0.09 มม. สายตาสั้นเพิ่มขึ้นในหน้าหนาว 0.32 + 0.27 D ขณะที่หน้าร้อน 0.26+ 0.27 D และกำลังของกระจกตา หน้าหนาว -0.04+0.08 D หน้าร้อน 0.05 + 0.10 D

อย่างไรก็ตามจากรายงานทั้ง 2 แม้ว่าจะไม่ได้พิสูจน์ชัดเจนถึงการใช้สายตามาก การออกสู่กลางแจ้งน้อยอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของสายตาสั้นได้ และพออนุโลมว่าหากเด็กใช้แต่ Ipad ทั้งวันและออกกลางแจ้งน้อยกว่า 1.5 ชม. ต่อวัน มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสายตาสั้นได้

อนึ่ง บทความนี้เป็นการศึกษาวิจัยอันหนึ่งยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นจริงแน่ชัด แต่หากนำไปใช้ก็ไม่น่าจะเสียหาย