สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 28: เยื่อบุตาอักเสบเรื้อรังชนิด (GPC)

เยื่อบุตาอักเสบเรื้องรัง ขนิด GPC ถือเป็นโรคภูมิแพ้ทางตาชนิดหนึ่ง พบมากในผู้ป่วยใช้คอนแทคเลนส์ เป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ใช้คอนแทคฯที่สำคัญเรื่องหนึ่ง ยังอาจพบในผู้ป่วยที่ใส่ตาปลอม และในผู้ป่วยหลังผ่าตัดตาแล้วมีไหมเย็บค้างอยู่ในตา

ปัจจุบันผู้ใช้คอนแทคฯเป็นเวลานานหลายปีมีจำนวนมากขึ้น จึงมีโอกาสเกิดภาวะ/โรคนี้ได้ โดยพบในผู้ป่วยที่ใช้เลนส์ชนิดนิ่มมากกว่าการใช้เลนส์ชนิดแข็ง ระยะเวลาที่ใช้เลนส์ชนิดนิ่มจะเกิดได้เร็วกว่า คือ ประมาณ 8 เดือน แต่ถ้า เป็นเลนส์แข็ง เฉลี่ยประมาณ 8 ปี ผู้ใช้คอนแทคฯชนิดรายวันจะ พบได้น้อยกว่าการใส่เลนส์ชนิดใส่นอนที่จะพบได้มากกว่า

การเกิดโรคเชื่อว่าเป็นเนื่องจากการสัมผัสของเยื่อบุตาใต้หนังตาบนถูกกับขอบคอนแทคเลนส์ หรือ ตาปลอม หรือเศษไหมที่ค้างอยู่เป็นเวลานาน มีการถูกันเวลากระพริบตาทุกครั้ง อีกทั้งในบางครั้งมีสารประเภทเมือก หรือขี้ตาติดอยู่ที่ผิวคอนแทคฯก็จะถูกับเยื่อบุตาใต้เปลือกตาบน ทำให้เยื่อบุตาบริเวณดังกล่าวเกิดการอักเสบเป็นตุ่มที่เรียกว่า papilla ขึ้น ขนาดของตุ่มนี้อาจจะเล็ก 0.3 มม. ไปถึงขนาด 1 มม. ผู้ป่วยโรคนี้ ถ้าพลิกหนังตาบนดู จะพบตุ่มเหล่านี้ที่เยื่อบุตา ใต้เปลือกตาบนจำนวนมาก อันเป็นที่มาของชื่อ GPC

อาการ: ผู้ป่วยจะเริ่มพบว่ามีอาการคันในตาเวลาถอดคอนแทคเลนส์ ตามด้วยมีขี้ตาเป็นเมือกๆ โดยเฉพาะเวลาเช้า นานเข้าจะมีอาการคันร่วมกับเจ็บตา แม้ในขณะที่มีคอนแทคฯอยู่ในตา ผู้ป่วยอาจมีตาแดง เจ็บตา เคืองตา ตามัว

ผู้ป่วยบางราย ถ้าเป็นเรื้อรัง อาจทำให้แลดูหนังตาตกลงมา เมื่อเป็นมากเข้าอาจจะใส่คอนแทคฯไม่ได้ คอนแทคฯที่ใส่ไม่ค่อยขยับเขยื้อน เพราะถูกตุ่มเล็กดังกล่าวยึดไว้

ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ใช้คอนแทคฯมานาน มีการประกอบคอนแทคฯที่เหมาะสม ไม่มีโรคของเปลือกตา/หนังตา มีอาการเมื่อใช้คอนแทคฯเป็นเวลานานเป็นปีๆ

การรักษา:

  1. เกี่ยวกับคอนแทคเลนส์
    1. ต้องเลือกใช้เลนส์ชนิดที่เหมาะสม ขนาดที่พอดี
    2. มีการทำความสะอาดเลนส์อย่างเคร่งครัด
    3. ควรใช้ enzyme ล้างคราบโปรตีนที่จับคอนแทคเลนส์อย่างสม่ำเสมอในรายที่ใช้เลนส์รายเดือน
    4. เลนส์ที่มีน้ำน้อยจะพบภาวะนี้น้อยกว่า
    5. เปลี่ยนคอนแทคเลนส์บ่อยๆ ถ้าจะให้ดีใช้แบบรายวัน
    6. น้ำยาที่ใช้กับคอนแทคเลนส์ควรเลือกแบบไม่มีสารกันบูด (preservative) ควรเป็น hydrogen peroxide disinfectant จะดีกว่า
  2. การใช้ยา ในรายที่มีอาการมาก อาจรักษาโดย
    1. ใช้ยาในกลุ่มที่เรียกว่า Mast cell stabilizer เพื่อสร้างภูมิต้านทาน ระงับการแพ้
    2. อาจใช้ยาที่มี antihistamine ร่วมด้วย
    3. ยาหยอดตาในกลุ่ม NSAIDS
    4. ใช้ยาในกลุ่ม steroid เป็นครั้งคราว ห้ามใช้ต่อเนื่องหรือเป็นเวลานาน
  3. ผู้ป่วยบางราย การเปลี่ยนชนิดของคอนแทคฯอาจจะช่วยให้อาการดีขึ้น
  4. โดยทั่วไป ผู้ป่วยควรงดการใช้คอนแทคฯ 2 – 4 สัปดาห์ ให้อาการดีขึ้นก่อนค่อยกลับมาใช้ใหม่
  5. ผู้ป่วยบางรายอาจต้องหันไปแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ โดยวิธีอื่น เช่น แว่นตา ทำเลสิค แทนการใช้คอนแทคฯ

ข้อควรระวัง

เมื่อมีอาการผิดปกติทางตา รวมทั้งในกรณีนี้ด้วย ควรปรึกษาหมอตา/จักษุแพทย์เสมอ ไม่ควรดูแลรักษาตัวเอง