สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 26: กระจกตาติดเชื้อ

กระจกตา (ตาดำ) ของคนเรา แม้ว่าจะเป็นอวัยวะที่ได้รับการปกป้องไม่ให้ติดเชื้อ โดยกระบวนต่างๆของร่างกาย เช่น การมีผิวการะจกตาที่เรียบ มีการกระพริบตาเพื่อมิให้สิ่งแปลกปลอมเข้าตา/เข้าไปโดนกระจกตา มีน้ำตาคอยชะสิ่งสกปรก มีเส้นประสาทมาเลี้ยงมากเพื่อปกป้องตัวเองจากการรับความรู้สึกได้ฉับพลัน ตลอดจนมีเอนไซม์จำพวก lysozyme และ สารภูมิต้านทานต่างๆ (natural antibody) หลายอย่างในน้ำตา แต่ขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยเสริมให้มีการติดเชื้อและรักษาได้ยาก จากการที่กระจกตาไม่มีหลอดเลือดที่จะนำเม็ดเลือดขาวช่วยขจัดเชื้อโรคและการอักเสบออกไป อีกทั้งเป็นส่วนของตาที่อยู่ส่วนหน้า จึงต้องสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม ทั้ง ลม ฝุ่น แสงแดด และสิ่งระคายเคืองต่างๆ มากที่สุด จึงมีโอกาสได้รับภยันตรายตามด้วยการติดเชื้อได้ง่าย

การเกิดแผลติดเชื้อที่กระจกตา ยังเป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรโลกมีตาบอด หรือ มีสายตาเลือนรางรวมทั้งในบ้านเรา แม้ในบางราย การอักเสบที่ไม่รุนแรงด้วยการรักษาที่ดีในปัจจุบันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิวตาดำ (แผลเป็น) เล็กน้อย อาจไม่มีผลต่อสายตา บางรายอาจทำให้สายตาลดลงบ้างจากการ

หักเหของแสงที่ผิวกระจกตาเปลี่ยนแปลงไป หากแผลเป็นไม่ใหญ่นักแต่อยู่บริเวณตรงกลางรูม่านตาก็อาจทำให้สายตามัวลงจากเดิมอย่างมาก บางรายแผลเป็นใหญ่มากทำให้ตาดำเป็นฝ้าขาวเต็มตา ซึ่งบดบังทั้งการมองเห็นและทำให้แลดูไม่สวยงามอีกด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น เป็นในรายที่รักษาได้ผล แต่ในบางกรณีการรักษาไม่ได้ผล แผลอาจลุกลามไปถึงส่วนในของลูกตา ทำให้ลูกตาทั้งดวงอักเสบ (endophthalmitis) ซึ่งทำให้เพิ่มความยุ่งยากในการรักษา อาจทำให้สูญเสียสายตาในตาข้างนั้นโดยสิ้นเชิง ซ้ำร้ายบางรายเชื้อรุนแรงจนไม่อาจควบคุมได้ จนต้องลงเอยด้วยการขจัดเชื้อโรคโดยการผ่าตัดเอาตาออก

จากการศึกษาของหลายๆการศึกษาพบว่า กระจกตาติดเชื้อมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง พบในคนวัยทำงานและผู้สูงอายุได้มากกว่าอายุอื่น วัยทำงานคงเนื่องจากการทำงานที่เสี่ยงต่อภยันตราย ส่วนวัยสูงอายุมักเกิดจากสภาพร่างกายที่ผิดปกติ เช่น น้ำตาแห้ง ขนตาเก ตาเคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน มีโรคทางกายที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลง เหล่านี้เอื้ออำนวยต่อการติดเชื้อทั้งสิ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระจกตาติดเชื้อนี้ที่สำคัญ คือ การได้รับอุบัติเหตุบริเวณลูกตา เช่น มีผงเข้าตา ฝุ่นละออง แมลงเข้าตา (ในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์) เศษหิน ปูน สนิมเหล็กกระเด็นเข้าตา ใบไม้กิ่งไม้บาดตาในหมู่เกษตรกร ในคนเมืองที่สำคัญ คือ การใช้คอนแทคเลนส์ โดยเฉพาะคอนแทคเลนส์แฟชั่นในยุคนี้ ตลอดจนการใช้เครื่องสำอางขีดเขียนบริเวณขอบตา

เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรีย เป็นกลุ่มเดียวกับแบคทีเรียที่มีอยู่บริเวณเปลือก/หนังตา และผิวหน้า ได้แก่ แบคทีเรียชนิดกรัมบวก ผู้ใช้คอนแทคฯมักจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Pseudomonas ที่มักพบปนอยู่ในเนื้อคอนแทคเลนส์ ปะปนอยู่ในน้ำยาที่ใช้กับคอนแทคเลนส์ตลอดจนปนอยู่ในเครื่องสำอางต่างๆ สำหรับเชื้อไวรัส และเชื้อราพอพบได้ โดยเฉพาะเชื้อรามักพบในเกษตรกรและมีการรักษาที่ยุ่งยากกว่า

เมื่อกระจกตาเกิดการติดเชื้อย่อมก่อให้เกิดการเจ็บปวดบั่นทอนเวลาทำงาน เสียเวลาในการรักษาเพราะเป็นโรคที่การรักษาค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลารักษานานกว่าโรคตาอื่นๆ เสียเงินเสียทอง สุดท้ายแม้รักษาหายมักจะมีรอยแผลเป็น ทำให้ตามัวลงหรือบางคนตาอาจถึงขั้นบอดก็ได้ เราควรหันมาให้ความสนใจป้องกันภาวะนี้โดย

  1. มีการปกป้องดวงตา เช่น ใช้แว่นกันฝุ่น กันแดด หากไปบริเวณที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ทำงานที่เสี่ยงมาก เช่น กรรมกรสกัดหิน เจียรเหล็ก หรือ ช่างเครื่อง จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีเครื่องป้องกันอาจเป็นโล่บังหน้า และ/หรือ แว่นนิรภัยที่ทำด้วยเลนส์ที่แข็งแรงไม่แตกง่าย มีก้านแว่นที่ปัดด้านข้าง ส่วนใหญ่ที่พบเกิดโรค มักจะพบในผู้ละเลยต่อสิ่งเหล่านี้
  2. ผู้ใช้คอนแทคเลนส์จำเป็นต้องปฏิบัติตนตามคำแนะนำของผู้ผลิต รักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด ใช้คอนแทคฯข้างที่จำเป็น เลือกเลนส์ที่เหมาะสม คอนแทคเลนส์แฟชั่นที่เปลี่ยนสีตา หรือทำให้ตาโต ไม่ควรใช้
  3. หากมีภาวะหรือโรคตาบางอย่างอยู่ที่อาจทำให้กระจกตาอักเสบตามมา ควรรีบรักษาแก้ไข เช่น ขนตาเก เปลือกตาอักเสบเรื้อรัง ตาหลับไม่สนิท ตาแห้ง ควรแก้ไขเสียโดยเร็ว
  4. ถ้ามีโรคประจำตัวทางกาย เช่น เบาหวาที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หรือ เป็นโรคของต่อมไทรอยด์ที่ทำให้ตาโปนหลับตาไม่สนิท ควรจะรักษาหรือควบคุมภาวะเหล่านั้นให้ได้ดี
  5. หากมีอาการผิดปกติทางตา เช่น เจ็บตา ตาแดง ตามัว ควรรีบปรึกษาหมอตา/จักษุแพทย์ และ
  6. การรักษาสุขภาพกายและใจทั่วไปให้แข็งแรง มีผลทำให้สุขภาพตาดีตามไปด้วย