สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 14: การคัดกรองต้อหิน

เร็วๆนี้ ได้อ่านเอกสารต่างประเทศเรื่องของต้อหิน “ Glaucoma now” ปี 2011 กล่าวไว้ว่า ต้อหินเป็นสาเหตุตาบอดที่แก้ไขไม่ได้ แต่อาจจะป้องกันไม่ให้บอดได้ เป็นอันดับต้น (ทั่วโลกต้อกระจกเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด แต่เป็นโรคที่แก้ไขได้) ของประชากรโลกพบเป็น 12 % ของเหตุตาบอดทั่วโลก โดยมีปัจจัยเสี่ยงเรื่อง อายุที่มากขึ้นเป็นหลัก ในสหรัฐอเมริกา พบต้อหิน 1- 2 % ถ้าเป็นชาวอเมริกาเชื้อสายอัฟริกัน พบได้ถึงประมาณ 4% และ 2 - 5% ในชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกัน โดยรวมพบโรคนี้ 1.86% ในชาวอเมริกาที่อายุ 40 ปี ขึ้นไป แสดงว่าเชื้อชาติน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหินอย่างหนึ่ง

เมื่อโรคนี้เป็นในผู้สูงอายุและถ้ารักษาทันจะป้องกันตาบอดได้ เราจึงควรหันมาป้องกันผู้สูงอายุของเรา ไม่ให้ตาบอดจากโรคนี้ ซึ่งป้องกันไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่ป้องกันไม่ให้ลุกลาม จนตาบอดได้ด้วยการพบจักษุแพทย์สม่ำเสมอในกรณี

  1. ตรวจวัดความดันลูกตาผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ปีละครั้ง เพราะความดันลูกตาเป็นอาการแสดงที่ตรวจได้ง่ายและจะสูงในผู้ป่วยโรคนี้
  2. ให้ความสนใจมากขึ้นในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน หรือมีคนในครอบครัวตาบอดตาใส (ส่วนมากบอดจากต้อหินมุมเปิดที่ตาค่อยๆมืดลงโดยลูกตาดูปกติไม่มีอาการตาแดงหรือปวดตา จึงเรียกกันทั่วไปว่า ตาบอดตาใส่)
  3. ผู้ที่มีสายตาสั้นปานกลางถึงมาก พบอุบัติการณ์ของต้อหินมากกว่าคนทั่วไป จึงควรรับการตรวจตาสม่ำเสมอ
  4. ผู้มีโรคเบาหวาน มีโอกาสเป็นต้อหินชนิดมุมเปิดที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือต้อหินจากเบาหวานขึ้นตา
  5. ผู้มีความผิดปกติบางอย่างในลูกตาที่แพทย์มักแนะนำว่ามีแนวโน้มจะเป็นต้อหิน เช่น exfoliationที่ผิวแก้วตา หรือภาวะเสื่อมของกระจกตา เป็นต้น
  6. ผู้มีโรคระบบหลอดเลือดของร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดอุดตัน หรือโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue disease)

ซึ่งเมื่อได้รับการตรวจพบว่า เป็นต้อหินแล้ว ควรจะต้องปฏิบัติตนเพื่อมิให้โรคลุกลามจนตาบอด ดังนี้

  1. ต้องไม่ลืมว่า โรคต้อหินเป็นโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องรับการตรวจ ดูแลอย่างต่อเนื่องหรือตามแพทย์นัดและ สายตาที่เสียไปแล้วจะไม่สามารถกลับคืนปกติได้
  2. ต้องใช้ยาต่างๆตามคำแนะนำของแพทย์ การขาดยาจะทำให้ตามัวลงอย่างแน่นอน
  3. หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดงมาก ปวดตา รู้สึกตามัวลงควรไปพบแพทย์/จักษุแพทย์ ทันที
  4. แม้ไม่มีอาการอะไร ควรรับการตรวจตาเป็นระยะๆ ตามจักษุแพทย์นัดหมาย โดยจักษุแพทย์จะตรวจวัดความดันลูกตา ดูขนาดของขั้ว/จานประสาทตา และลานสายตาเป็นบางครั้ง เพื่อดูผลของการรักษา ตลอดจนดูแนวโน้ม ความรุนแรงของโรค