สารอะฟลาทอกซิน สารพิษทำร้ายตับ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

สารอะฟลาทอกซิน

สำหรับคน สามารถได้รับสารอะฟลาทอกซินจากกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อรา โดยมีอาการต่างๆ เช่น

  • อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ภาวะปอดบวมน้ํา (Pulmonary edema)
  • เลือดออกในสมอง (Hemorrhaging)
  • ชัก (Convulsions)
  • หมดสติไม่รู้สึกตัว (Coma)
  • เสียชีวิต ด้วยอาการสมองบวม (Cerebral edema) ไขมันเกาะตับ ไต และหัวใจ

และในปี พ.ศ.2531 สถาบัน IARC ได้ยอมรับว่า สารอะฟลาทอกซิน B1 สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในคนได้ โดยเฉพาะมะเร็งในเซลล์ตับ Liver Cell Cancer (LCC)

โดยการได้รับสารอะฟลาทอกซินในระดับที่สูงพอสมควร สามารถทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลันและอาจเสียชีวิตได้ทั้งในสัตว์และในคน ซึ่งจะมีผลต่อตับเป็นหลัก นอกจากนี้ยังอาจมีผลต่อปอด ไต สมอง และหัวใจ

ส่วนการได้รับสารอะฟลาทอกซินสะสมเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เป็นโรคมะเร็งตับ โรคตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic hepatitis) โรคดีซ่าน (Jaundice) โรคตับแข็ง (Cirrhosis) นอกจากนี้ยังทำให้เป็น กลุ่มอาการไรย์ (Reye’s syndrome) และโรคขาดโรคตีนและพลังงาน หรือที่เรียกว่า โรคควาชิออร์กอร์ (Kwashiorkor)

ทั้งนี้ องค์การอาหารและยา FDA ได้ระบุถึงระดับของสารอะฟลาทอกซินในอาหารของคนว่า ไม่ควรเกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม หรือ 20 ppb (= part per billion) ยกเว้นกรณีของนมที่ไม่ควรมีสารอะฟลาทอกซิน M1 เกิน 0.5 ppb

สำหรับวิธีเลี่ยงสารอะฟลาทอกซิน ได้แก่

  1. นำถั่วลิสงหรืออาหารแห้งไปตากแดดก่อนที่จะนำมาเก็บรักษา ความร้อนจากแสงอาทิตย์จะช่วยลดความชื้น ทำให้เชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ส่งผลให้อะฟลาทอกซินลดลงตามไปด้วย
  2. ในการเลือกซื้ออาหารประเภทถั่วลิสงบด กุ้งแห้ง พริกแห้ง พริกไทย พริกป่น ต้องเลือกที่อยู่ในสภาพใหม่ ไม่แตกหัก ไม่ขึ้นรา หากดมดูมีกลิ่นเหม็นอับ ไม่ควรซื้อมารับประทาน
  3. อย่าประหยัดผิดวิธี โดยการนำอาหารที่ขึ้นรามาตัดส่วนที่ขึ้นราทิ้งไป แล้วนำอาหารส่วนที่เหลือขึ้นมารับประทาน เพราะอาหารชิ้นนั้นอาจมีสารอะฟลาทอกซินกระจายไปทั่วชิ้นแล้ว ดังนั้นอาหารที่ขึ้นราแล้ว ให้ทิ้งไปทั้งหมด
  4. ควรทำเครื่องปรุงรส ไม่ว่าถั่วลิสงบด พริกป่น ด้วยตนเอง ในปริมาณที่พอเหมาะกับการรับประทานของคนในครอบครัว และไม่เก็บไว้ในที่อับชื้น รวมทั้งไม่เก็บไว้นานเกินไป ทั้งนี้ ต้องหมั่นตรวจสอบว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  5. สำหรับคุณแม่ควรระวังเรื่องสารอะฟลาทอกซินเป็นพิเศษ ในส่วนของคุณแม่ลูกอ่อนที่ต้องให้นมลูก ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของอะฟลาทอกซิน ส่วนคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ ก็ควรระมัดระวังในเรื่องอาหารของลูกเพราะอาจได้รับอันตรายหลังได้รับสารพิษ
  6. แหล่งข้อมูล

    1. AFLATOXINS : Occurrence and Health Risks. http://poisonousplants.ansci.cornell.edu/toxicagents/aflatoxin/aflatoxin.html [2016, July 25].

    2. AFLATOXINS. http://www.foodsafetywatch.org/factsheets/aflatoxins/ [2016, July 25].

    3. อันตรายไม่ค่อยรู้ แต่รุนแรงถึงตาย!! สารที่อาจปนเปื้อนในก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย และส้มตำ. http://manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx?NewsID=9590000064328 [2016, July 25].

    4. Aflatoxin Mycotoxins. http://blackmold.awardspace.com/aflatoxin-mycotoxins.html [2016, July 25].