สารอะฟลาทอกซิน สารพิษทำร้ายตับ (ตอนที่ 2)

สารอะฟลาทอกซิน

สารอะฟลาทอกซินหลักๆ มีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ อะฟลาท็อกซิน ชนิด B1, B2, G1 และ G2 กับ อีก 2 ชนิด ที่เป็นผลผลิตที่เกิดระหว่างปฏิกิริยา (Metabolic product) ได้แก่ M1 และ M2 โดยที่

  • บี (B) หมายถึง Blue คือ อะฟลาทอกซินที่เรืองแสงให้สีฟ้า เมื่อดูภายใต้แสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) ที่ความยาวคลื่น 365 นาโนเมตร
  • จี (G) หมายถึง Green คือ อะฟลาทอกซินที่เรืองแสงให้สีเหลืองแกมเขียว
  • เอ็ม (M) หมายถึง Milk คือ อะฟลาทอกซินที่พบในน้ำนมวัวซึ่งเปลี่ยนรูปมาจากอะฟลาทอกซินบีจากอาหารโดยกลไกของร่างกาย

โดย อะฟลาทอกซิน ชนิด B1 เป็นสารที่พบในอาหารมากที่สุดและมีพิษมากที่สุด ซึ่งอาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดปัจจุบันที่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน ได้แก่

  • นม เนย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เมล็ดฝ้าย เครื่องเทศ ฯลฯ
  • อาหารจำพวกแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เช่น แป้งข้าวสาลี แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวจ้าว แป้งข้าวโพด แป้งมันสำปะหลัง
  • อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสง เช่น ถั่วลิสงดิบ ถั่วลิสงคั่วที่ใช้ปรุงอาหาร เนยถั่วลิสง กากถั่วลิสง น้ำมันถั่วลิสง
  • อาหารแห้ง เช่น ผัก ผลไม้อบแห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง เนื้อมะพร้าวแห้ง พริกแห้ง พริกไทย งา กระเทียม เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วอัลมอนด์ ลูกฟิกซ์ ถั่วพิสตาชีโอ (Pistachio nuts) และถั่วอื่นๆ
  • นอกจากนั้นยังพบปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์

โดยผลิตผลที่พบสารอะฟลาทอกซินมากที่สุด ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วลิสง และเมล็ดฝ้าย ส่วนนม ไข่ และเนื้อ มักเกิดการปนเปื้อนจากการที่สัตว์กินอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซินเข้าไป

ทั้งนี้ สารอะฟลาทอกซินที่พบในพืชผลที่ปนเปื้อน สามารถเกิดขึ้นได้หากมีความล่าช้าในการทำให้แห้ง หรือมีความชื้นจนทำให้มีการเจริญเติบโตของเชื้อรา

ปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดสารอะฟลาทอกซิน

  • กรณีเป็นพืชผลก่อนการเก็บเกี่ยว (Preharvest aflatoxin contamination) เช่น อุณหภูมิที่ร้อน สภาพแห้งแล้งที่ยาวนาน และแมลงที่รบกวน
  • กรณีเป็นพืชผลหลังการเก็บเกี่ยว (Postharvest production of aflatoxins) เช่น อุณหภูมิที่อุ่น และความชื้นที่สูง

ในสัตว์ ความเป็นพิษจากอะฟลาทอกซิน (Aflatoxicosis) จะทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารในสัตว์ผิดปกติ (Gastrointestinal dysfunction) ภาวะการสืบพันธุ์น้อยลง (Reduced reproductivity) โลหิตจาง (Anemia) และตัวเหลือง (Jaundice) โดยเฉพาะสารอะฟลาทอกซิน B1 ที่ สถาบัน International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้ยอมรับว่าสามารถก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ได้

แหล่งข้อมูล

1. AFLATOXINS : Occurrence and Health Risks. http://poisonousplants.ansci.cornell.edu/toxicagents/aflatoxin/aflatoxin.html [2016, July 24].

2. AFLATOXINS. http://www.foodsafetywatch.org/factsheets/aflatoxins/ [2016, July 24].