สารมีพิษจากแมลง (ตอนที่ 1)

สารมีพิษจากแมลง-1

      

      นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า อันตรายที่เกิดจากแมลงมีพิษ เป็นภัยด้านสุขภาพอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งแมลงหลายชนิดมีพิษโดยธรรมชาติในตัวของมันเอง คนจะได้รับพิษจากการถูกกัด ดูดกินเลือด หรือจากการไปสัมผัส รวมทั้งการบริโภคแมลงมีพิษเหล่านั้น

      โดยหลังจากได้รับพิษจะมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นร้ายแรงเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของแมลงรวมทั้งสภาพร่างกาย อายุ บริเวณที่ได้รับพิษ รวมทั้งปริมาณสารพิษที่ได้รับ โดยอาการทางร่างกายหรือผิวหนังจะมีลักษณะบวมแดง เจ็บปวดหรือปวดแสบปวดร้อน ผื่นคันระคายเคือง

      ตัวอย่างการได้รับพิษทางผิวหนังที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ คือ ได้รับพิษจากด้วงก้นกระดกที่มีสารพีเดอริน (Pederin) เมื่อลำตัวแมลงแตกหัก สารพิษดังกล่าวจะสัมผัสกับผิวหนัง ส่วนอาการที่เกิดจากการบริโภคแมลงจะมีได้ 2 แบบ คือ

      1. อาการแพ้ที่เกิดจากการบริโภคแมลงทั่วไป โดยร่างกายจะมีการตอบสนองที่คล้ายกับคนที่แพ้อาหาร เช่น แพ้อาหารทะเล จะมีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยๆ ได้แก่ ลิ้นและหลอดอาหารบวม กลืนอาหารลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน กระวนกระวาย เป็นลม ปวดท้องเนื่องจากกระเพาะอาหารหดเกร็ง ท้องเสีย จนถึงขั้นรุนแรงคือความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว หายใจไม่สะดวก ช็อค และอาจทำให้เสียชีวิตได้

      2. อาการที่เกิดจากการบริโภคแมลงที่มีพิษร้ายแรง ได้แก่ ด้วงน้ำมันที่มีรายงานผู้เสียชีวิตอยู่เสมอโดยประชาชนเข้าใจผิดคิดว่ากินได้ จึงจับมาเผาไฟกินจะได้รับสารพิษแคนทาริดิน (Cantaridin) ถึงแม้ด้วงจะถูกเผาไฟแล้วแต่สารพิษยังคงอยู่

      นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า ในแต่ละปีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับตัวอย่างด้วงน้ำมันส่งมาตรวจวิเคราะห์เนื่องจากมีคนได้รับพิษ โดยพบว่าการกินด้วงน้ำมันเกิน 3 ตัวแล้วรักษาไม่ทันจะทำให้เสียชีวิตได้

      โดยอาการของผู้ที่กินด้วงน้ำมัน คือ ปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน มีเลือดปน รวมทั้งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะมีเลือดปน เนื่องจากสารพิษดังกล่าวเข้าไปทำอันตรายอย่างรุนแรงต่อเยื่อเมือกในระบบต่างๆ ของร่างกาย

      นอกจากนั้นยังมีแมลงอีกหลายชนิดที่ดูดกินเลือดโดยตรง เช่น มวนเพชฌฆาต แมลงชนิดนี้ในเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวอยู่บริเวณที่รกรุงรังหรือรอยแตกของผนังห้อง รวมทั้งพุ่มไม้รอบบ้านแล้วออกมา ดูดกินเลือดคนและสัตว์ในเวลากลางคืน รวมทั้งตัวเรือด หมัด เห็บ และไร เป็นต้น

      และหากไม่ดูแลรักษาบาดแผลที่ถูกกัดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นแผลอักเสบลุกลามได้ หรือแม้แต่แมลงบางชนิด เช่น แมลงวันตา ชอบมาดูดกินเลือดและน้ำเหลืองบนแผลที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล เกิดเป็นแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาดได้

      ดังนั้นประชาชนควรหลีกเลี่ยงไม่บริโภคแมลงที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยมีการนำมาบริโภคมาก่อน ป้องกันตัวเองจากการถูกแมลงกัดต่อย ถ้าได้รับพิษทางผิวหนังให้ล้างแผลให้สะอาด ทาด้วยยาปฏิชีวนะประเภทครีม ถ้ามีอาการรุนแรงทั้งจากการแพ้หรือบริโภคแมลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

      สารพีเดอริน (Pederin) เป็นสารที่ทำให้เกิดตุ่มพอง (Vesicant toxic amide) ส่วนใหญ่พบในแมลงปีกแข็งตัวเมีย (Female beetles) ที่เรียกว่า แมลงก้นกระดก หรือ ด้วงก้นกระดก (Paederus beetle)

แหล่งข้อมูล:

  1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตือนภัยแมลงมีพิษในประเทศไทยถึงตายได้. http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/324 [2018, May 13].
  2. Pederin.https://en.wikipedia.org/wiki/Pederin [2018, May 13].