สารพันปัญหากับไทรอยด์ (ตอนที่ 5)

สารพันปัญหากับไทรอยด์-5

การรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินทำ (ต่อ)

  • การกินยาต้านไทรอยด์ (Anti-thyroid medications) ให้ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง เช่น ยา Propylthiouracil และ ยา Methimazole ซึ่งอาการจะดีขึ้นใน 6-12 สัปดาห์ แต่ก็ยังคงต้องกินยาต่อไปอย่างน้อย 1 ปี หรือนานกว่า อย่างไรก็ดียานี้มีผลในการทำลายตับ เป็นผื่นแพ้ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
  • การใช้กลุ่มยา Beta blockers ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง แพทย์อาจสั่งยานี้เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยป้องกันอาการใจสั่น แต่ไม่ได้ช่วยลดระดับไทรอยด์ ทั้งนี้อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา คือ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ท้องผูก ท้องเสีย
  • การผ่าตัด (Thyroidectomy)

ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)

ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นภาวะหนึ่งที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อย ส่วนใหญ่ผู้หญิงโดยเฉพาะที่อายุมากกว่า 60 ปี จะมีภาวะนี้ โดยในระยะแรกที่เป็น อาการอาจไม่ปรากฏและการรักษาทำได้ง่าย แต่หากปล่อยไว้และไม่ทำการรักษาจะทำให้มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา

สาเหตุของภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน ได้แก่

  • โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease) ของต่อมไทรอยด์ ทำให้ไม่มีเซลล์และเอนไซม์พอที่จะผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนได้ โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังฮาชิโมโต (Hashimoto's thyroiditis) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า โรคฮาชิโมโต (Hashimoto's disease)
  • ผลของการรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เช่น การกลืนรังสี หรือ การกินยาต้านไทรอยด์ เพื่อลดการทำงานของต่อมไทรอยด์
  • การผ่าตัดไทรอยด์ออกทั้งหมดหรือบางส่วน
  • การฉายรังสี เพื่อรักษาโรคมะเร็งที่ศีรษะและคออาจมีผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์
  • ผลข้างเคียงของการใช้ยา เช่น Lithium ซึ่งเป็นยาทางจิตเวชที่ใช้รักษาอาการคลุ้มคลั่ง

มีส่วนน้อยที่อาจเป็นผลมาจาก

  • โรคแต่กำเนิด (Congenital disease) เด็กบางคนอาจมีปัญหาเรื่องต่อมไทรอยด์หรือไม่มีต่อมไทรอยด์มาตั้งแต่เกิด
  • ต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ (Pituitary disorder) ไม่สามารถผลิตฮอร์โมน TSH ได้ตามปกติ ซึ่งมักเกิดจากการมีก้อนเนื้อที่ต่อมใต้สมอง
  • การตั้งครรภ์ โดยผู้หญิงบางคนอาจมีปัญหาเรื่องภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังการตั้งครรภ์ (Postpartum hypothyroidism) ซึ่งหากปล่อยไว้จะเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด และ ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)
  • ขาดสารไอโอดีน (Iodine deficiency)

แหล่งข้อมูล:

  1. Hyperthyroidism (overactive thyroid). http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperthyroidism/basics/definition/con-20020986 [2017, June 28].
  2. Hyperthyroidism (Overactive). https://www.thyroid.org/hyperthyroidism/ [2017, June 28].
  3. Understanding Thyroid Problems -- the Basics. http://www.webmd.com/women/guide/understanding-thyroid-problems-basics#1 [2017, June 28].