สารพันปัญหากับไทรอยด์ (ตอนที่ 3)

สารพันปัญหากับไทรอยด์-3

วิธีการรักษาโรคต่อมไทรอยด์ทั่วไป (ต่อ)

  • การใช้รังสีไอโอดีน (Radioactive Iodine = R.A.I.): ในปริมาณที่ต่ำเพื่อรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรือในปริมาณที่มากเพื่อรักษาเนื้อเยื้อที่เป็นมะเร็ง
  • การฉายรังสี (External radiation): เพื่อช่วยฆ่าเซลล์มะเร็ง
  • การกินยาไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid hormone pills): เพื่อรักษาภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน และป้องกันมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่กลับมาเป็นซ้ำ
  • การฉีดฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (Recombinant human TSH): เพื่อทำให้เห็นภาพมะเร็งต่อมไทรอย์ที่ชัดเจนขึ้นกรณีที่ทำภาพวินิจฉัย (Imaging tests)

อย่างไรก็ดี แต่ละวิธีล้วนมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปซึ่งต้องชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธีให้ดี

ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism / overactive thyroid)

เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มาก ทำให้ระบบเผาผลาญ (Metabolism) ทำงานมาก โดยมีลักษณะอาการดังต่อไปนี้

  • น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีการกินอาหารตามปกติหรือกินมากกว่าปกติ
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia) ซึ่งมักจะเต้นมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) หรือมีอาการใจสั่น (Palpitations)
  • อยากอาหารมากขึ้น
  • กระวนกระวาย วิตกกังวล และหงุดหงิด
  • สั่น โดยเฉพาะที่มือและนิ้ว
  • เหงื่อออกมาก
  • รอบเดือนผิดปกติ
  • ขี้ร้อน
  • การขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ
  • คอบวมหรือคอพอก
  • เหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแอ
  • นอนไม่หลับ
  • ผิวบาง
  • ผมเปราะบาง
    • เนื่องจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน มีอาการที่หลากหลายซึ่งคล้ายกับโรคอื่นๆ ดังนั้นแพทย์จึงอาจวินิจฉัยโรคได้ยาก นอกจากนี้ยากลุ่ม Beta blockers ที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคอื่น ก็อาจปกปิดอาการของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินได้

      แหล่งข้อมูล:

      1. Picture of the Thyroid. http://www.webmd.com/women/picture-of-the-thyroid#1 [2017, June 26].
      2. Hyperthyroidism (overactive thyroid). http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperthyroidism/basics/definition/con-20020986 [2017, June 26].