สารพันปัญหากับไทรอยด์ (ตอนที่ 13)

สารพันปัญหากับไทรอยด์-13

โรคปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์ หรือ ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodule)

อาจเป็นก้อนเนื้อหรือก้อนน้ำ ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง ไม่ได้เป็นเนื้อร้าย และไม่แสดงอาการ แต่บางครั้งอาจรู้สึกได้ หรือใหญ่จนเห็นได้ หรือไปกดหลอดลมทำให้หายใจหรือกลืนได้ลำบาก หรือบางครั้งก้อนที่ต่อมไทรอยด์ก็อาจผลิตฮอร์โมน T-4 ได้ จนทำให้เกิดอาการของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เช่น

  • น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
  • เหงื่อออกมาก
  • สั่น
  • กระวนกระวายใจ
  • หัวใจเต้นเร็ว

สำหรับสาเหตุที่เกิดเป็นก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์นั้น มีหลายสาเหตุ เช่น

  • การขาดไอโอดีน
  • เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์โตเร็วผิดปกติแต่ไม่ใช่เนื้อร้าย บางครั้งก็เรียกว่า Thyroid adenoma
  • ถุงน้ำของไทรอยด์ (Thyroid cyst)
  • การอักเสบของต่อมไทรอยด์ (Thyroiditis)
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์

ส่วนอาการแทรกซ้อนของก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ ได้แก่

  • มีปัญหาในการกลืนหรือหายใจ
  • มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ กระดูกพรุน

ในการวินิจฉัยถึงก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ทำได้ด้วยการ

  • ตรวจร่างกาย – แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกลืนให้ดู เพราะก้อนในต่อมไทรอยด์จะขยับขึ้นและลงระหว่างที่กลืน
  • การทดสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ามากหรือน้อยด้วยการดูค่าฮอร์โมน T-4 และ T-3
  • การทำอัลตราซาวด์ เพื่อดูรูปร่างและขนาดของก้อนเนื้อ
  • การเจาะดูดด้วยเข็มเพื่อดูลักษณะเซลล์ (FNA)
  • การสแกนไทรอยด์ (Thyroid scan)

หากก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์ไม่ใช่เนื้อร้าย สามารถรักษาด้วยการ

  • สังเกตดูอาการด้วยการทดสอบเป็นช่วงๆ หากไม่พบสิ่งผิดปกติก็อาจจะไม่ต้องทำการรักษา
  • การใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อกดการเจริญของเนื้อเยื่อไทรอยด์ (Thyroid hormone suppression therapy)
  • การผ่าตัด เพราะแม้ว่าก้อนจะไม่ใช่เนื้อร้าย แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่จึงอาจมีผลต่อการหายใจหรือการกลืน ทำให้ต้องตัดออก

แหล่งข้อมูล:

  1. Thyroid nodules. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/thyroid-nodules/home/ovc-20307262 [2017, July 10].