สารพันปัญหากับไทรอยด์ (ตอนที่ 1)

สารพันปัญหากับไทรอยด์-1

ปัญหาสุขภาพกลายเป็นประเด็นสำคัญในชีวิตของซูเปอร์สตาร์กังฟูชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ชื่อ เจ็ท ลี หรือ หลีเหลียนเจี๋ย ในตลอดระยะหลายปีหลัง โดย เจ็ท ลี เริ่มเป็นนักกีฬาวูซตั้งแต่ยังเด็ก และเล่นหนังมานานถึง 30 ปีแล้ว ซึ่งการเป็นดาราแอ็กชั่นทำให้เขาเคยประสบอุบัติเหตุ จนถึงขั้นกระดูกหักหลายครั้ง

นอกจากนั้น ระยะหลังยังป่วยด้วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน จนต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักตัวได้ บางครั้งก็ดูผอมโซ แต่บางคร้ังน้ำหนักตัวก็เพิ่มขึ้นจนผิดปกติ โดย เจ็ท ลี กล่าวถึงอาการป่วยของตัวเองว่า ภาวะไทรอยด์เป็นพิษทำให้บางครั้งเขาผอมลง 15 กก. บางครั้งก็น้ำหนักขึ้น 15 กก.

ทั้งนี้ เจ็ท ลี ได้ออกมาปฏิเสธข่าวที่ว่า เขาป่วยหนักและอาจจะต้องนั่งรถเข็นไปตลอดทั้งชีวิต แต่ยืนยันว่าเขากำลังต่อสู้อยู่กับมัน และจัดการกับโรคอย่างสงบด้วยความคิดในแง่บวก โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาธรรมะ ทำงานการกุศล และยังคงสนใจศิลปะป้องกันตัวเหมือนเดิม

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid) เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ อยู่ใต้ลูกกระเดือก มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ (Butterfly-shaped gland) ขนาดยาว 4 ซม. กว้าง 1-2 ซม. ต่อมไทรอยด์เต็มไปด้วยหลอดเลือด มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนหลายตัวซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid hormones)

ไทรอยด์ฮอร์โมนจะถูกหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดไปทั่วรางกาย ทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างและสลาย (Metabolism) การเจริญเติบโตและพัฒนาการ (Growth and development) โดยไทรอยด์ฮอร์โมนจะเป็นสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการของสมองในทารกและเด็ก

ต่อมไทรอยด์จะผลิตฮอร์โมนหลักๆ 2 ตัว คือ Thyroxine (T-4) และ Triiodothyronine (T-3) ซึ่งมีผลต่อทุกเซลล์ในร่างกาย เพราะฮอร์โมนเหล่านี้จะช่วยรักษาอัตราการใช้ไขมันและคาร์โบไฮเดรต ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ สร้างโปรตีน นอกจากนี้ต่อมไทรอยด์ยังผลิตฮอร์โมนที่ชื่อ Calcitonin ซึ่งช่วยในการจัดการกับปริมาณแคลเซียมในเลือด

ต่อมไทรอยด์จะทำงานได้ด้วยการอาศัยสารไอโอดีน (Iodine) ซึ่งร่างกายดูดซึมจากอาหารและน้ำที่กินเข้าไป โดยทั้งร่างกายจะมีไอโอดีนอยู่ที่ประมาณ 50 มิลลิกรัม และร้อยละ 20-33 ของไอโอดีน (10-15 มิลลิกรัม) จะถูกสะสมที่ต่อมไทรอยด์ ไอโอดีนจะถูกผสมเข้ากับกรดอะมิโนที่เรียกว่า Tyrosine ที่ต่อมไทรอยด์ เพื่อสร้างฮอร์โมนที่จำเป็น

ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) จะควบคุมการหลั่งฮอร์โมน T-4 และ T-3 ของต่อมไทรอยด์อีกที ด้วยการที่ไฮโพทาลามัสจะส่งสัญญาณไปให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่เรียกว่า Thyroid-stimulating hormone (TSH) ซึ่งจะหลั่งเป็นปริมาณเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับฮอร์โมน T-4 และ T-3 ที่มีอยู่ในเลือด

กรณีที่มีฮอร์โมน T-4 และ T-3 อยู่ในเลือดน้อย ก็จะมีการหลั่งฮอร์โมน TSH ที่มาก ตรงกันข้ามถ้ามีฮอร์โมน T-4 และ T-3 มาก ฮอร์โมน TSH ก็จะน้อย กล่าวคือ ต่อมไทรอยด์จะควบคุมการผลิตฮอร์โมนด้วยปริมาณของ TSH ที่ได้รับ

แหล่งข้อมูล:

  1. ภาพล่าสุด “เจ็ท ลี” ในวัย 54 ปี เผชิญปัญหาสุขภาพ แต่กำลังใจยังเข้มแข็ง. http://manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9600000059790&Keyword=%e0%a8%e7%b7+%c5%d5 [2017, June 26].
  2. Picture of the Thyroid. http://www.webmd.com/women/picture-of-the-thyroid#1 [2017, June 26].
  3. Hyperthyroidism (overactive thyroid). http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperthyroidism/basics/definition/con-20020986 [2017, June 26].
  4. Thyroid Disease. https://kidshealth.org/en/parents/thyroid-disease.html [2017, June 26].