สารทำให้ผิวขาว (Skin whitening agent)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารทำให้ผิวขาว หรือ สารปรับผิวขาว หรือ สารทำให้ผิวขาว หรือเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ‘สกินไวเทนนิง’ (Skin whitening agent หรือ Skin whitening หรือ Whitening) หมายถึง สารประกอบ หรือสารผสม หรือกลุ่มยา ที่มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังดูขาวกระจ่างขึ้น โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ลดปริมาณของรงควัตถุหรือเม็ดสี(Pigment) ที่เรียกกันว่า เมลานิน(Melanin)บนผิวหนัง

เมลานินเป็นรงควัตถุที่ทำให้ผิวหนังดูเข้มจนกระทั่งดำก็จริง แต่ประโยชน์ของเมลานิน คือ ช่วยป้องกันการทำลายเซลล์ผิวหนังจากรังสียูวีซึ่งมีอยู่ในแสงแดด รวมถึงแสงจากเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายประเภท และยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนังอีกด้วย

สารทำให้ผิวขาวมีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

สารทำให้ผิวขาว

ปัจจุบันมีการแบ่งกลุ่มสารทำให้ผิวขาวตามกลไกการออกฤทธิ์ดังนี้

1. สารประกอบที่มีฤทธิ์ยับยั้งการถอดรหัสหรือการกระตุ้นเอนไซม์ที่ชื่อ ไทโรซิเนส/Tyrosinase (Inhibition of tyrosinase transcription) สารประกอบกลุ่มนี้ เช่นTretinoin, Glucosamine, Retinol, Retinaldehyde, และ N-acetyl glucosamine

2. สารประกอบที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase inhibion) มีตัวอย่างดังนี้ Hydroquinone, Mequinol, Aarbutin, Azelaic acid, Kojic acid, Ellagic acid , Resveratrol, และ Oxyresvaretral

3. สารประเภทช่วยผลัดหรือลอกผิวหนัง (Epidermal turnover accelerant) เช่น Vitamin C, Vitamin E, Thioctic acid, Retinoids, Lactic acid, Glycolic acid, Salicylic acid, Liquiritin และกรดผลไม้ต่างๆ

4. สารที่มีฤทธิ์ยับยั้งหน่วยย่อย/อวัยวะเซลล์(Organelle) ที่คอยทำหน้าที่ขนถ่ายเม็ดสีหรือที่เรียกว่า Melanosome เช่น Linoleic acid

5. สารต่อต้านการอักเสบ เช่น Niacinamide และนมถั่วเหลือง(Soy milk)

6. สารที่คอยดักจับอนุมูลอิสระ(Free radical trapping agents) เช่น ยาสเตียรอยด์สำหรับทาผิวหนัง(Topical steroids) และ Glycyrrhetinic acid

7. สารที่ยับยั้งการผลิตเมลานิน DOPA (Dioxyphenylalanine) quinone เช่น เกลือปรอทต่างๆ(Mercury salts)

8. กลุ่มสารสกัดจากธรรมชาติ(Natural extracts) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าจับตา มองโดยมีการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้พืชที่มีอยู่ในพื้นที่ สารสำคัญที่สกัดได้อาจมีการออกฤทธิ์คล้ายกับสารเคมีที่กล่าวมาดังข้อที่ 1–7 ตัวอย่างเช่น สารสกัดจากหม่อนและใบบัวบก เป็นต้น

9. กลุ่มสารประกอบที่ออกฤทธิ์ป้องกันมิให้ผิวหนังสัมผัสกับรังสียูวี เช่น ผลิตภัณฑ์ Sunscreen(ครีมกันแดด) ที่มีระดับการกรองรังสียูวี หรือที่เราเรียกกันว่าSPF(Sun protection factor) ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ถูกใช้ในลักษณะของการป้องกันมิให้มีการกระตุ้นการสร้างเม็ดสีที่ผิวหนังมากยิ่งขึ้น มิได้ออกฤทธิ์ต่อกลไกการเกิดเม็ดสีของผิวหนังโดยตรง

กลไกการสร้างสีผิวเป็นอย่างไร?

กลไกการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง เริ่มจากการใช้กรดอะมิโนที่มีชื่อว่าไทโรซีน(Tyrosine) เป็นสารตั้งต้น จากนั้นจะมีเอนไซม์ไทโรซีเนส(Tyrosinase) เข้ามากระตุ้นไทโรซีนถูกเปลี่ยนโครงสร้างเป็น DOPA และ DOPA quinone ตามลำดับ DOPA quinone ยังต้องผ่านการทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ต่างๆหรือสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างเช่น DOPA chrome tautomerase, DHICA oxidase, DHI oxidase, Glutathione หรือ Cysteine จนได้เม็ดสีหรือรงควัตถุของผิวหนัง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นรงควัตถุสีดำ , น้ำตาล, และ เหลือง-แดง ดังที่แสดงในแผนภูมิข้างล่าง

มีเกณฑ์หรือทางเลือกสารทำให้ผิวขาวอย่างไรบ้าง?

การตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาว ควรต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพผิวหนังของตนเอง ผลที่คาดหวังต่อผิวหนังหลังใช้ผลิตภัณฑ์ อันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ผิดวิธี หรือใช้สารที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ หรือสารที่ถูกยกเลิกการใช้ไปแล้ว ผู้บริโภคสามารถใช้แนวทางพิจารณาการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาวดังต่อไปนี้ เช่น

1. รู้จักธรรมชาติผิวพรรณของตนเอง เช่น มีผิวปกติ ผิวแห้ง ผิวมัน หรือผิวผสม ผลิตภัณฑ์บางตัวมีส่วนประกอบของกรดผลไม้ หากใช้ผลิตภัณฑ์นั้นกับผู้มีผิวแห้ง จะทำให้ผิวแห้งมากยิ่งขึ้นและก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่างๆตามมา นอกจากนี้ธรรมชาติของผิวพรรณแต่ละเชื้อชาติยังมีความหนา-บางต่างกัน กรณีผู้ที่มีสีผิวเข้ม จะมีโอกาสเกิดรอยย่นสูงกว่าผู้ที่มีผิวขาว

ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาวสามารถใช้ได้กับผู้บริโภคทุกสีผิวก็จริง แต่มีความต่างตรง ที่ผู้ที่มีสีผิวเข้มอาจต้องใช้เวลานานกว่าผู้ที่มีสีผิวขาวเล็กน้อยจึงจะเห็นประสิทธิผล

2. สรุปความต้องการที่จะเกิดขึ้นต่อผิวพรรณตนเองหลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาว ผลิตภัณฑ์ที่ดีจะต้องสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ เช่น ยับยั้งการเกิดรอยด่างดำ ยับยั้งการสร้างเมลานินได้จริง รวมถึงการยับยั้งการเกิดฝ้า การมีริ้วรอยคล้ำตามข้อพับต่างๆ เช่น ใต้รักแร้ ศอก เข่า นอกจากนี้ต้องป้องกันการทำลายของแสงแดดหรือแม้แต่ลบรอยปานแดงหรือปานน้ำตาลที่มีมาตั้งแต่เกิดได้

3. ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ชำนาญทางผิวหนัง(Dermatologist) จะเป็นผู้ให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสมปลอดภัย และสามารถคัดเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวได้เป็น อย่างดี

ไม่ควรใช้ยาหรือเคมีใดๆตามคำบอกต่อโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ในอเมริกา มีกรณีตัวอย่างของครีมไฮโดรควิโนน(Hydroquinone) ที่มีความเข้มข้น 4% การใช้ยาชนิดนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ด้วยความเชื่อที่ว่าสารไฮโดรควิโนนอาจจะกระตุ้นการเกิดมะเร็งผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนัง ทำให้ผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวมีอยู่หลายกลุ่มส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น

4. ตรวจสอบสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์ สารสำคัญบางตัวที่เคยใช้กันมาในอดีตได้ถูกยกเลิกการใช้ไปแล้ว เช่น ปรอท ผู้บริโภคได้หันมาสนใจสารสกัดตามธรรมชาติที่ดูจะเป็นมิตรและปลอดภัยกว่าสารเคมี

5. ผู้ที่มีผิวพรรณแพ้ง่าย ควรใช้ครีมหรือโลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF ที่เหมาะสม ป้องกันขณะออกกลางแจ้งที่มีแสงแดดจัด หรือสวมเสื้อผ้าปกคลุมผิวหนังเพื่อป้องกันรังสียูวี

ผลไม่พึงประสงค์ของสารทำให้ผิวขาวมีอะไรบ้าง?

ผลไม่พึงประสงค์จากยา/ผลอันไม่พึงประสงค์โดยภาพรวมของการใช้สารทำให้ผิวขาวในลักษณะขาดความเข้าใจ มีดังนี้ เช่น

1. ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งผิวหนัง เช่น ครีมที่ประกอบด้วย Hydroquinone, สารปรอท, Tretinoin, และ Steroids สารดังกล่าวสามารถกระตุ้นการเกิดมะเร็งไม่ว่าจะด้วยการใช้ที่ความเข้มข้นสูง หรือการใช้ในระยะนานๆที่อาจมีการดูดซึมจนก่อผลเสียกับตับ/ตับอักเสบ

2. ทำให้ผิวหนังบางลงจนเห็นเส้นเลือดฝอย หรือเกิดการบอบช้ำ หรือเกิดรอยเหี่ยวย่น หรือมีรอยด่างขาวหรือดำเป็นเวลานาน และต้องใช้เวลาในการรักษาเพื่อให้ผิวหนัง ฟื้นสภาพกลับมาเป็นปกติ

3. สารทำให้ผิวขาวสามารถลดคุณสมบัติการฟื้นสภาพของผิวหนัง เช่น กรณีเกิดบาดแผล รอยขีดข่วน อาการเหล่านี้จะหายช้ากว่าปกติ

4. การใช้สารทำให้ผิวขาวไปนานๆ บางกรณีก็ก่อให้เกิดอาการผิวลอก เป็นผื่นแดง หรือแสบคันตามมา ทั่วไป อาการเหล่านี้จะหายเองเมื่อหยุดใช้

5. กรณีใช้สารทำให้ผิวขาวกลุ่มต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น Glutathione แบบฉีด ปัญหานี้เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดในกลุ่มนักวิชาการด้วยกัน ด้วยประสิทธิภาพการทำให้ผิวขาวของ Glutathione แบบฉีดเข้าร่างกาย ยังมิได้มีการประเมินความปลอดภัยและประโยชน์ ที่ก่อให้เกิดกับผู้บริโภค การนำมาใช้ในลักษณะยาฉีดอาจก่อความเสียหายต่อร่างกาย เช่น ทำให้ไตวาย เกิดโรคตับ หรือหอบหืด รวมถึงอาการของ กลุ่มอาการ Stevens-Johnsons syndrome หรือไม่ก็ก่อให้เกิดโรคต่อเซลล์ของผิวหนัง

ด้วยผลเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้สารทำให้ผิวขาวแบบขาดความเข้าใจ และเพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้บริโภคเอง สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนัง(Dermotologist) / เภสัชกร ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาว จะช่วยสร้างความเข้าใจ ได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวมีอะไรบ้าง?

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวทั้งในประเทศ และในต่างประเทศ มีมากมายทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือยา ซึ่งไม่สามารถนำมาระบุในบทความนี้ได้ทั้งหมด จึงขอยกตัวอย่างเพียงบางรายการดังนี้

  • Marie France Kojic Acid Soap (แมรี ฟรานซ์ โกจิก เอซิด โซพ)
  • C Bella Organic Brightening Toner (ซี เบลลา ออแกนิค ไบรท์เทนนิง โทเนอร์)
  • Ultra Potent Brightening Serum (อัลตร้า โพเท้นท์ ไบรท์เทนนิง เซรั่ม)
  • Liposomal Glutathione (ไลโพโซมอล กลูต้าไธโอน)
  • Whitening Face Masks (ไวท์เทนนิ่ง เฟส มาส์ค)
  • Meladerm Skin Lightening Cream (เมลาเดิร์ม สกิน ไลท์เทนนิ่ง ครีม)
  • Perfect Image Lactic Acid 50% Peel (เพอร์เฟค อิมเมจ แลคติก เอซิด 50% พีล)
  • Raphe Pharmaceuticals Alpha Hydroxy Quinone (ราฟ ฟาร์มาซูติคอลส์ อัลฟา ไฮดรอกซี คิวโนน)
  • Whitening Sunscreens (ไวท์เทนนิ่ง ซันสกรีน)

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Skin_whitening [2018,June16]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Melanin [2018,June16]
  3. https://www.google.co.th/search?q=tyrosinase+animation&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ved=0ahUKEwiOhuTR7ovbAhWPWysKHY83AVAQsAQILA&biw=1920&bih=949#imgrc=JgF6qEnQZxxzZM: [2018,June16]
  4. https://www.youtube.com/watch?v=pq9OAa-wIQM [2018,June16]
  5. http://www.skinwhiteningscience.com/top_skin_whitening_agents_top_20_retinoids.html [2018,June16]
  6. file:///C:/Users/apai/Downloads/cosmetics-03-00036.pdf [2018,June16]
  7. file:///C:/Users/apai/Downloads/cosmetics-03-00027%20(2).pdf [2018,June16]
  8. https://www.google.co.th/search?q=melanin+production+diagram&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ved=0ahUKEwjfqP-ggozbAhXINo8KHQunDR4QsAQIJQ&biw=1920&bih=949#imgrc=ZoTBOpuRiV60cM: [2018,June16]
  9. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18569714 [2018,June16]
  10. https://www.badgerbalm.com/s-30-what-is-spf-sunscreen-sun-protection-factor.aspx [2018,June16]
  11. http://skinwhiteningnews.org/5-tips-choosing-best-skin-whitener/ [2018,June16]
  12. https://www.saferskinwhitening.com/skin-whitening/side-effects-skin-whitening-creams/ [2018,June16]
  13. https://zetawhite.com/glutathione-injections-skin/ [2018,June16]