สั่นอย่างพาร์กินสัน (ตอนที่ 1)

สั่นอย่างพาร์กินสัน

หากพูดถึงยอดมวยของไทยที่ก้าวไกลสู่แชมป์โลกในอดีต หลายคนคงรู้จัก “ชาติชาย เชี่ยวน้อย” หรือ ชื่อจริง “นริศ เชี่ยวน้อย” ฮีโร่ในใจใครหลายคน ที่วันนี้มีอายุถึง 73 ปีแล้ว แต่กลับต้องป่วยหนัก เผชิญชีวิตฟันฝ่าสู้กับสารพัดโรคร้ายที่รุมเร้า นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งหนึ่งในโรคนั้นก็คือ โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) หรือ โรคสันนิบาต เป็นพัฒนาการที่ผิดปกติของระบบประสาทซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายในลักษณะที่ค่อยๆ แย่ลงๆ โดยอาการสั่นและการเคลื่อนไหวที่ช้าลงจะเป็นลักษณะที่รู้จักกันดีของโรคนี้ ทั้งนี้ มีชาวอเมริกันเกือบ 1 ล้านคน ที่เป็นโรคพาร์กินสัน

ในขั้นต้นโรคพาร์กินสันจะมีผลต่อเซลล์ประสาท (Neurons) ในบริเวณสมองส่วนที่เรียกว่า Substantia nigra โดยคนที่เป็นโรคพาร์กินสันจะมีเซลล์ประสาทที่ค่อยๆ เสื่อมและตาย อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการที่ขาดเซลล์ประสาทในการผลิตสารเคมีในสมองที่เรียกว่า “โดปามีน” (Dopamine) เมื่อระดับโดปามีนต่ำลงจะเป็นสาเหตุให้สมองทำงานผิดปกติ และแสดงอาการของโรคพาร์กินสัน

ทั้งนี้ เชื่อว่าอาการของโรคพาร์กินสันจะเริ่มปรากฏเมื่อเซลล์ประสาทในบริเวณ Substantia nigra ถูกทำลายไปประมาณร้อยละ 80

นอกจากนี้ นักวิจัยยังระบุถึงการเปลี่ยนแปลงของสมองในคนที่เป็นโรคพาร์กินสัน แต่ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า ทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงของสมองได้ โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้แก่

  • มีการพบก้อนโปรตีนที่เรียกว่า Lewy bodies ซึ่งอัดตัวกันเป็นก้อนขึ้นในเนื้อสมอง
  • มีกลุ่มก้อนโปรตีนที่มีชื่อว่า Alpha-synuclein (A-synuclein) ซึ่งเกิดในก้อนโปรตีน Lewy bodies

อาการของโรคพาร์กินสันจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยในระยะแรกใบหน้าจะไม่ค่อยแสดงความรู้สึก แขนจะไม่แกว่งขณะเดิน การพูดจะค่อยหรือออกเสียงไม่ชัด และอาการจะแย่ลงเมื่อมีพัฒนาการของโรคมากขึ้น อาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป แต่ที่เด่นชัดโดยทั่วไป ได้แก่

  • อาการสั่น (Tremor / shaking) โดยเริ่มที่แขนขา มือ หรือนิ้ว โดยเฉพาะที่ปลายนิ้ว เป็นอาการสั่นเหมือนกับคนที่กำลังปั้นเม็ดยา (Pill rolling tremor)
  • การเคลื่อนไหวช้าลง (Bradykinesia) ทำให้ใช้เวลามากขึ้น การก้าวเดินอาจสั้นลง เดินลากขา หรืออาจพบว่าการลุกออกจากเก้าอี้เป็นเรื่องยาก
  • อาการกล้ามเนื้อเกร็ง (Rigid muscles) ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำให้จำกัดการเคลื่อนไหวและทำให้ปวด
  • ท่าทางไม่สมดุล มีปัญหาเรื่องการทรงตัว (Postural instability) ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้

แหล่งข้อมูล

1. พาร์กินสัน สารพัดโรครุม! ขอพลังช่วย อดีตฮีโร่แชมป์โลก 'ชาติชาย เชี่ยวน้อย'. http://www.thairath.co.th/content/581192[2016, March 6].

2. Parkinson's diseasehttp://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/parkinsons-disease/basics/definition/con-20028488[2016, March 6].

3. What is Parkinson’s Disease? http://www.pdf.org/about_pd[2016, March 6].

4. Parkinson's disease. http://www.nhs.uk/conditions/parkinsons-disease/Pages/Introduction.aspx[2016, March 6].