สะโพกหัก โรคฮิตของคนแก่ (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

สะโพกหัก โรคฮิตของคนแก่

ส่วนการรักษาโรคกระดูกพรุนนั้น ผศ.นพ.ธนินนิตย์ กล่าวว่า ต้องประกอบด้วยการปรับปรุงการใช้ชีวิตประจำวัน (Lifestyle modifications) ผู้ป่วยทุกคนควรออกกำลังกายที่ให้ร่างกายมีการรับน้ำหนักต่อกระดูก เช่น การเดิน การวิ่ง ร่วมกับการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ส่วนในรายที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหวควรส่งต่อให้นักกายภาพบำบัดเพื่อทำการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย

สำหรับการใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุน ผศ.นพ.ธนินนิตย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนมี 2 กลุ่ม คือ 1) ยาที่กระตุ้นการสร้างมวลกระดูกขึ้นมาใหม่ซึ่งใช้ด้วยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุกวันวันละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องกันนาน 2 ปี เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนชนิดรุนแรงร่วมกับการเกิดกระดูกหักหลายตำแหน่ง และ 2) ยายับยั้งการทำลายกระดูกซึ่งมี 2 รูปแบบ ทั้งชนิดรับประทาน และชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด หรือฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง

ทั้งนี้ โดยทั่วไปการป้องกันการหกล้มและการรักษากระดูกให้แข็งแรงอาจทำได้โดย

  1. ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีที่พอเพียง ซึ่งโดยไปชายและหญิงที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับแคลเซียมวันละ 1,200 มก. และวิตามินดีวันละ 600 IU. นอกจากนี้สามารถหาแคลเซียมได้จากอาหาร เช่น นม เนม โยเกิร์ต ส่วนวิตามินดีสามารถหาได้จากปลาแซลมอน ปลาทูน่า เป็นต้น
  2. ออกกำลังกระดูกและพัฒนาการทรงตัว การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (Weight-bearing exercise) อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน จะช่วยรักษาความหนาแน่นของกระดูก การฝึกการทรงตัว (Balance training) จะช่วยลดโอกาสในการหกล้ม
  3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง และการดื่มสุราทำให้เมามายไม่สามารถทรงตัวและหกล้มได้ง่าย
  4. จัดบ้านและทางเดินให้เรียบร้อย ไม่ให้มีอะไรเกะกะที่อาจทำให้สะดุดล้มได้ เช่น สายไฟ และจัดให้มีแสงไฟที่พอเพียงต่อการเห็น
  5. ไปตรวจตาทุกปี และควรตรวจเพิ่มขึ้นหากมีโรคเบาหวานหรือโรคตา
  6. คอยสังเกตุยาที่ใช้ว่ามีผลข้างเคียงทำให้เวียนศีรษะหรือไม่ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการหกล้ม
  7. ค่อยๆ ลุกขึ้นยืน เพราะการลุกเร็วเกินไปอาจเป็นสาเหตุให้ความดันเลือดตกและทำให้รู้สึกโอนเอน
  8. ใช้ไม้เท้าหรือวอคเกอร์ (Walker) กรณ๊ที่รู้สึกไม่มั่นคงเวลาเดิน

ในท้ายสุด ผศ.นพ.ธนินนิตย์ กล่าวสรุปว่า ความสำเร็จของการรักษาโรคกระดูกพรุนขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร แคลเซียม วิตามินดี และการใช้ยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมทั้งป้องกันไม่ให้หกล้ม ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนไม่ควรก้มเก็บของเพราะจะเพิ่มโอกาสการยุบตัวของกระดูกสันหลังด้วย

แหล่งข้อมูล

  1. กระดูกตะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน. http://www.dailynews.co.th/article/315230 [2015, July 14].
  2. Hip fracture. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hip-fracture/basics/definition/con-20021033 [2015, July 15].
  3. Hip Fracture. http://www.webmd.com/osteoporosis/tc/hip-fracture-topic-overview [2015, July 15].