สะโพกหัก โรคฮิตของคนแก่ (ตอนที่ 3)

สะโพกหัก โรคฮิตของคนแก่

ผศ.นพ.ธนินนิตย์ กล่าวถึง แนวทางการรักษากระดูกสะโพกหักในปัจจุบันที่ดีและเหมาะสมที่สุดคือ การรักษาด้วยการผ่าตัด จากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พบว่า การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด นอนดึงให้กระดูกติด จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่รักษาด้วยการผ่าตัดมากถึง 2–3 เท่า

ผศ.นพ.ธนินนิตย์ กล่าวด้วยว่า การรักษาด้วยการผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลุกเดิน เคลื่อนไหวได้ไวขึ้น มีการเกิดโรคแทรกซ้อนน้อย และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ การผ่าตัดส่วนใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งการหักของกระดูกสะโพก บางครั้งก็ใช้วิธีการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกด้วยแผ่นเหล็ก บางครั้งก็ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การเอกซเรย์ทำให้ทราบถึงตำแหน่งที่หักได้ แต่ถ้ายังมีอาการเจ็บอยู่แต่มองไม่เห็น แพทย์อาจให้ทำการตรวจเพิ่มด้วยวิธี

  • เอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อดูภาพของกระดูกและเนื้อเยื่อ (Soft tissues) ได้ชัดขึ้น
  • ซีทีสแกน (CT scan) เพื่อดูรายละเอียดมากขึ้น
  • การสแกนกระดูก (Bone scan) ซึ่งรวมถึงการฉีดสีย้อม แล้วถ่ายภาพ ทำให้มองเห็นรอยร้าวของกระดูก (Hairline Fracture) ได้

ปกติสะโพกหักมักเกิดในบริเวณ 2 จุดดังนี้

  • กระดูกต้นขา (The femoral neck)
  • แนวปุ่มบนกระดูกต้นขา (The intertrochanteric region)

การรักษาสะโพกหักมักใช้วิธีร่วมระหว่าง การผ่าตัด การทำกายภาพบำบัด และการใช้ยา

การผ่าตัดมักขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่หักและความรุนแรง อายุ สภาพร่างกาย การทำการผ่าตัดทันทีหรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังการหัก จะช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลให้สั้นลง ลดอาการเจ็บปวดและโรคแทรกซ้อนได้

ซึ่งกรณีกระดูกที่หักและเคลื่อนไปจากที่เดิม (Displaced fracture) อาจใช้วิธีการผ่าตัดด้วยการ

  • การแก้ไขด้วยการยึดสกรู (Internal repair using screws / hip pinning)
  • การเปลี่ยนสะโพกบางส่วน (Partial hip replacement) – กรณีช่วงปลายของกระดูกเคลื่อนหรือถูกทำลาย แพทย์อาจทำการเปลี่ยนกระดูกต้นขาส่วนหัวและส่วนคอด้วยอวัยวะเทียม (Prosthesis) ที่เป็นโลหะ
  • การเปลี่ยนสะโพกทั้งหมด (Total hip replacement) – กรณีเคยมีปัญหาเรื่องข้อต่ออักเสบ (Arthritis) หรือบาดเจ็บมาก่อน หรือเป็นโรคกระดูกพรุน ก็อาจทำการเปลี่ยนสะโพกทั้งหมดไปในทีเดียว

ร้อยละ 20 ของผู้ที่เคยสะโพกหัก จะเกิดการหักอีกครั้งภายใน 2 ปี ดังน้น จึงต้องใช้ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) เพื่อช่วยชะลอการสูญเสียมวลกระดูก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาใช้กิน แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น อาการกรดไหลย้อน (Acid reflux) และเกิดการอักเสบที่บริเวณหลอดอาหาร (Esophagus) ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงดังกล่าว แพทย์จึงอาจแนะนำให้ใช้วิธีฉีดยาเข้าหลอดเลืดดแทนก็ได้

อย่างไรก็ดี ไม่แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไต นอกจากนี้อาจมีกรณีที่พบได้ยาก ที่การใช้ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตเป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดและบวมที่ขากรรไกร และมีปัญหาทางสายตา

แหล่งข้อมูล

  1. กระดูกตะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน. http://www.dailynews.co.th/article/315230 [2015, July 13].
  2. Hip fracture. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hip-fracture/basics/definition/con-20021033 [2015, July 13].
  3. Hip Fracture. http://www.webmd.com/osteoporosis/tc/hip-fracture-topic-overview [2015, July 13].
  4. Hip Replacement Surgery. http://www.webmd.com/arthritis/surgery-hip-replacement [2015, July 13].