สะโพกหัก โรคฮิตของคนแก่ (ตอนที่ 2)

สะโพกหัก โรคฮิตของคนแก่

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ความเสี่ยงของสะโพกหักเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่

  • เพศ – ประมาณร้อยละ 70 ของสะโพกหักจะเกิดในผู้หญิง เพราะผู้หญิงจะสูญเสียความหนาแน่นของกระดูกเร็วกว่าผู้ชาย เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงหลังวัยหมดประจำเดือน
  • เป็นโรคเรื้อรัง – โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disorders) เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปอาจทำให้กระดูกหักง่าย การมีความผิดปกติของลำไส้ที่มักทำให้การดูดซึมของวิตามินดีและแคลเซียมลดน้อยลงอาจเป็นสาเหตุทำให้กระดูกอ่อนและหักง่าย และหากมีการบกพร่องทางปัญญา (Cognitive impairment) ก็เพิ่มความเสี่ยงในการหกล้มยิ่งขึ้น
  • ผลจากการใช้ยาบางชนิด – อย่างยาสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาโรคหอบหืด ยาลดกรด (Antacid) ที่ใช้ในการรักษาโรคแผลในกระเพาะ ยารักษาโรคอารมณ์ซึมเศร้า (Antidepressant) ซึ่งหากใช้ยาเป็นระยะเวลานานจะมีผลทำให้กระดูกไม่แข็งแรง หรือยาบางชนิดที่ทำให้ง่วงซึมอาจทำให้เกิดการหกล้มได้ง่าย
  • ปัญหาทางโภชนาการ – การขาดแคลเซียมและวิตามินดีในอาหารเมื่อวัยเด็กจะทำให้มวลกระดูกที่สะสมไว้มีน้อยกว่าปกติและเสี่ยงต่อการหักได้ง่าย การกินอาหารไม่ถูกต้อง เช่น เป็นโรคเบื่ออาหาร (Anorexia nervosa) และโรคผิดปกติทางอารมณ์ทำให้กินมากเกินไปแล้วอาเจียนออก (Bulimia) สามารถทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกได้
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็น
  • การไม่ออกกำลังกาย – ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลงและกระดูกอ่อน
  • การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ – ล้วนมีผลต่อขั้นตอนในการสร้างกระดูก ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง

สะโพกหักทำให้การพึ่งพาตัวเองทำได้น้อยลงและบางครั้งทำให้ชีวิตสั้นลงด้วย ประมาณครึ่งหนึ่งของคนที่สะโพกหักจะไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ ซึ่งหากมีผลทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • ลิ่มเลือดอุดตันที่ขาหรือปอด
  • เป็นแผลกดทับ (Bedsores)
  • ติดเชื้อในทางเดินกระเพาะปัสสาวะ (Urinary tract infection)
  • โรคปอดติดเชื้อ (Pneumonia)
  • กล้ามเนื้อเหลวไม่แข็งแรงทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มและบาดเจ็บ

นอกจากนี้คนที่มีสะโพกหักแล้วจะความเสี่ยงที่กระดูกไม่แข็งแรง มีโอกาสในการหกล้มและมีความเสี่ยงที่สะโพกจะหักได้อีก

แหล่งข้อมูล

  1. Hip fracture. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hip-fracture/basics/definition/con-20021033 [2015, July 12].
  2. Hip fracture. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hip-fracture/basics/definition/con-20021033 [2015, July 12].
  3. Hip Fracture - Frequently Asked Questions. http://www.webmd.com/osteoporosis/tc/hip-fracture-frequently-asked-questions [2015, July 12].