สะอึกส่งสัญญาณสุขภาพ (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

นายแพทย์พินิศจัย นาคพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด แพทย์ประจำตัวหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ได้เปิดเผยว่า จากการตรวจเบื้องต้นพบว่าหลวงพ่อคูณไม่ได้เป็นอะไรมาก ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีไข้ จากการตรวจปอดพบเพียงรอยผิดปกติเดิมที่เคยเข้ารับการรักษาครั้งก่อน ซึ่งก็ไม่ได้มีอาการผิดปกติอะไรเพิ่มเติม

จึงถือว่าในขณะนี้ไม่มีอะไรที่ต้องห่วงมาก แต่เนื่องจากว่าท่านอายุมาก ประกอบกับเคยผ่านการรักษาโรคต่างๆ มาแล้วมากมาย จึงต้องเฝ้าระวังติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด คณะแพทย์คาดว่าสาเหตุที่ทำให้หลวงพ่อคูณอาพาธซ้ำด้วยโรคหลอดลมอักเสบ อาจมาจากการที่อากาศในช่วงนี้เปลี่ยนแปลงบ่อยมาก

ทั้งนี้ คณะแพทย์ได้สั่งห้ามเข้าเยี่ยมหลวงพ่อคูณอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนกับหลวงพ่อคูณ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้ทำการให้ยาปฏิชีวนะ พร้อมกับให้นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อดูอาการไปก่อน โดยยังไม่มีกำหนดกลับวัด

อาการสะอึกอาจหายไปได้เองภายในไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมง เราสามารถแก้อาการสะอึกได้โดยการเพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ซึ่งทำได้โดย

  • กลั้นหายใจแล้วนับ 1 ถึง 10 อย่างช้าๆ
  • หายใจเข้าหายใจออกในถุงกระดาษสักช่วงเวลาหนึ่ง
  • ดื่มน้ำเย็นอย่างรวดเร็ว 1 แก้ว
  • รับประทานน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา โดยให้น้ำตาลละลายที่ลิ้นอย่างช้าๆ สำหรับเด็กอาจให้รับประทานน้ำเชื่อมข้าวโพด (Corn syrup) ได้
  • ดึงลิ้นออกมา
  • ใช้น้ำยากลั้วคอ (Gargle water)
  • สูดกลิ่นเกลือ

ส่วนการรักษาการสะอึกทางการแพทย์โดย

  • การให้ยา (Medication)
  • การฝังเข็ม (Acupuncture) หรือ
  • การสะกดจิต (Hypnosis)

บางครั้งอาการสะอึกที่คงอยู่นานอาจสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleurisy of the diaphragm) โรคปอดบวม (Pneumonia) ภาวะไตวาย (Uremia) โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) กระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารทำงานผิดปกติ และโรคลำไส้ (Bowel diseases)

ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการสะอึกเกิน 3 ชั่วโมง และอาการนั้นรบกวนการรับประทานอาหาร การหายใจ และการนอนหลับ และควรไปพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีไข้ หายใจลำบาก อาเจียน จุกแน่นลำคอ น้ำหนักลด ไอเป็นเลือดพร้อมการสะอึก

แหล่งข้อมูล:

  1. “หลวงพ่อคูณ” อาพาธเข้าโรงพยาบาลกลางดึก หลอดลมอักเสบ http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000081808&Keyword=%e2%c3%a4 [2012, July 13].
  2. Hiccups - Topic Overview. http://www.webmd.com/digestive-disorders/tc/hiccups-topic-overview [2012, July 13].
  3. Hiccups, Chronic. http://www.webmd.com/digestive-disorders/hiccups-chronic [2012, July 13].
  4. Hiccups Treatment. http://firstaid.webmd.com/hiccups-treatment [2012, July 13].