สวยหลอกแต่น่ากลัวจริง (ตอนที่ 1)

รหัสพิฆาต EV71

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดกรณีพบบัณฑิตใหม่ตาบอดจากการฉีดฟิลเลอร์เมื่อปีก่อน แพทยสภาจึงพิจารณาว่าควรจะมีหลักสูตรการเรียนการสอนฉีดฟิลเลอร์อย่างถูกวิธี โดยให้ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องหรือโรงพยาบาลต่างๆ ไปจัดทำหลักสูตรมาเสนอ แล้วแพทยสภาจะพิจารณารับรองหลักสูตรให้ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนระยะสั้น 6 เดือน หรือหลักสูตรระยะยาว 2 ปี แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดทำเรื่องนี้

สำหรับกรณีพบผู้ป่วยตาบอดเพิ่มถึง 2-3 รายนี้ถือว่ามากเกินไป ถ้าเกิดเหตุบ่อยเช่นนี้แพทยสภาอาจจะต้องมีการพิจารณาห้ามฉีดฟิลเลอร์อย่างเด็ดขาดโดยเฉพาะบริเวณจมูก อย่างไรก็ตามยังต้องหารือร่วมกับราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องทางด้าน หู คอ จมูก ก่อน ต้องดูว่าใช้สารอะไรมาฉีดเป็นสารที่ได้รับอนุญาตหรือไม่

ด้าน นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรห้ามฉีดฟิลเลอร์ แต่ควรทำให้ถูกมาตรฐานมากกว่า เพราะสารดังกล่าวมีหลักเกณฑ์การใช้อยู่แล้วว่าให้ฉีดตรงไหนได้บ้าง เช่น บริเวณจมูก หน้าผาก เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่จะทำก็ควรเลือกทำกับผู้เชี่ยวชาญ เพราะถ้าเกิดปัญหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะรู้วิธีการแก้ไขอยู่ ในขณะที่ถ้าไปทำกับผู้ไม่มีความชำนาญนั้น บางครั้งผู้ป่วยบอกว่าเจ็บระหว่างฉีด แต่ยังยืนยันว่าจะฉีดต่อจนทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

การฉีดฟิลเลอร์ (Injectable wrinkle fillers) เป็นการฉีดสารเพื่อช่วยเติมเต็มรอยเส้น (Lines) ที่เห็นเป็นรอยย่นหรือตีนกา ช่วยลดรอยย่น ทำให้ดูเป็นหนุ่มสาวมากขึ้น โดยใช้เวลาฉีดน้อยกว่า 30 นาที และสามารถอยู่ได้นานเป็นเวลา 4-12 เดือน

การฉีดฟิลเลอร์สามารถใช้กับการยกกระชับแก้ม กราม (Jawline) และขมับ (Temples) ช่วยทำให้ปากดูอิ่มเอิบและลดรอยเหี่ยวย่นของหลังมือ

การฉีดฟิลเลอร์เป็นวิธีการที่เร็วและง่าย แต่อาจมีผลกระทบเป็นความเสี่ยงจากปฏิกริยาการแพ้ (Allergic reaction) และการทำให้เกิดตุ่มเล็กๆ (Tiny bumps) ใต้ผิวหนัง ซึ่งบางครั้งตุ่มนี้อาจเป็นถาวร และบางครั้งก็อาจเกิดปรากฏการณ์ทินดอลล์ (Tyndall effect) หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์กระเจิงแสง หรือบางทีเซลล์ผิวหนังอาจตายได้ และก็มีน้อยรายที่ทำให้เกิดอาการตาบอดและเส้นประสาทเป็นอัมพาต (Nerve paralysis)

ไม่ใช่สารฟิลเลอร์ทุกตัวที่เหมาะกับรอยย่นทุกชนิด ความเสี่ยงสามารถลดลงและได้ผลลัพธ์ตามต้องการ หากรู้จักเลือกชนิดของสารฟิลเลอร์ที่เหมาะสม ดังนั้นจึงควรเลือกฉีดฟิลเลอร์กับแพทย์ที่เชื่อถือได้

ฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีดมีหลายชนิด มีผลชั่วคราวเพราะเป็นสารที่ร่างกายสามารถละลายได้เอง อย่างไรก็ดี มีฟิลเลอร์เพียงชนิดเดียวที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) แม้จะเป็นชนิดที่ร่างกายจะไม่สามารถละลายได้เอง นอกจากนี้ฟิลเลอร์บางชนิดยังมีส่วนผสมของยาชา (Lidocaine) ที่ช่วยลดความเจ็บปวดหรืออาการไม่สบายจากการฉีด

แหล่งข้อมูล

  1. แพทยสภาขู่ห้ามฉีดฟิลเลอร์ หากพบทำให้ตาบอดมากขึ้น. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000080049 [2015, September 1].
  2. What You Should Know About Wrinkle Fillers. http://www.webmd.com/beauty/facial-fillers/wrinkle-fillers-what-you-should-know [2015, September 1].
  3. Soft Tissue Fillers (Dermal Fillers). http://www.fda.gov/MedicalDevices/ProductsandMedicalProcedures/CosmeticDevices/WrinkleFillers/ucm2007470.htm [2015, September 1].