สบู่แอนตี้แบคทีเรีย จำเป็นหรือไม่ ? (ตอนที่ 1)

เมื่อคุณซื้อสบู่ก้อนหรือสบู่เหลวที่มีคำว่า “แอนตี้แบคทีเรีย” คุณคิดว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำให้คุณสะอาด ลดความเสี่ยงในการติดโรคหรือแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นหรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration = FDA) กล่าวว่าไม่จำเป็นเลย ทุกวันนี้ผู้บริโภคเป็นจำนวนมากใช้สบู่แอนตี้แบคทีเรียที่บ้าน ที่ทำงาน ที่โรงเรียน และตามสถานที่ต่างๆ ซึ่ง FDA คิดว่าควรจะมีการเปิดเผยให้ชัดเจนถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

Colleen Rogers, Ph.D. หัวหน้านักจุลชีววิทยา (Microbiologist) ของ FDA กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ระบุว่าสบู่แอนตี้แบคทีเรียที่ขายกันตามท้องตลาดจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันความเจ็บป่วยได้ดีกว่าการใช้สบู่ธรรมดากับน้ำเปล่า

ยิ่งไปกว่านั้นสบู่แอนตี้แบคทีเรียยังประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด เช่น ไตรโคลซาน (Triclosan) และไตรโคลคาร์บาน (Triclocarban) ซึ่งอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงโดยไม่จำเป็นเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้

Colleen Rogers กล่าวว่า จากข้อมูลใหม่พบว่า การใช้สบู่แอนตี้แบคทีเรียเป็นระยะเวลานานอาจจะไม่เกิดประโยชน์นัก เพราะมีส่วนประกอบบางอย่างในสบู่ที่อาจจะ ให้เกิดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจจะมีผลที่คาดไม่ถึงต่อฮอร์โมนอย่างที่ FDA วิตกอยู่

สบู่แอนตี้แบคทีเรีย (Antibacterial soaps / antimicrobial soaps / antiseptic soaps) เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดซึ่งมีส่วนผสมของสารต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยสารเคมีนี้จะทำลายเชื้อแบคทีเรียและจุลินทรีย์ (Microbes) แต่ไม่มีผลต่อเชื้อไวรัส

สารต้านเชื้อแบคทีเรียที่นิยมใช้กันในสบู่และยาระงับกลิ่นกาย (Deodorant) ก็คือ ไตรโคลซาน (Triclosan) ไตรโคลคาร์บาน (Triclocarban/Trichlorocarbamide) และ PCMX (Chloroxylenol) การมีส่วนผสมเหล่านี้ในตามเกณฑ์ควบคุมหนึ่งจึงจะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์แอนตี้แบคทีเรีย แต่เนื่องจากแบคทีเรียมีหลายชนิด ดังนั้นผลที่ได้รับจากการใช้ก็อาจแตกต่างกันไปตามชนิดของแบคทีเรีย

จากการทดลองในสัตว์พบว่าไตรโคลซานอาจจะเปลี่ยนแปลงการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายได้ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีผลกระทบต่อร่างกายคนหรือไม่

FDA และสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (The Environmental Protection Agency = EPA) ได้ร่วมมือกันออกกฏเพื่อควบคุมไตรโคลซาน โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้เน้นถึงผลกระทบของไตรโคลซานไปคนละด้าน

กล่าวคือ EPA จะควบคุมไตรโคลซานในฐานะที่เป็นสารฆ่าแมลง (Pesticide) ในขณะที่ FDA จะควบคุมไตรโคลซานที่ใช้ในสบู่

แหล่งข้อมูล:

  1. FDA Taking Closer Look at 'Antibacterial' Soap. http://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm378393.htm [2014, February 20].
  2. Antibacterial soap. http://en.wikipedia.org/wiki/Antibacterial_soap [2014, February 20].