สบายใจสบายกาย สายด่วนการแพทย์ (ตอนที่ 2)

นพ. ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยว่า ในเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน เป็นช่วงที่ประชาชนจำนวนมากเดินทางไป – กลับภูมิลำเนา ส่งผลให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น ทางสพฉ. จึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และได้มาตรฐาน โดยยึดหลักนโยบาย 3 เร็ว 2 ดี ฟรีทั่วไทย ที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายมาตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ในช่วงที่ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยฉุกเฉิน

ใน 3 เร็วนั้น เร็วที่ 1 คือ แจ้งเหตุเร็ว มีคู่สายการรับแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 ถึง 800 คู่สาย ทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เร็วที่ 2 คือ รับเร็ว จัดชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่มีกะจายอยู่ทั่วประเทศ มีความพร้อมไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที ส่วนเร็วที่ 3 คือ ส่งเร็ว และแพทย์ให้การรักษาเร็ว สำหรับ 2 ดี คือการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างดีทั้งในภาวะปกติและการดูแลรักษาผู้ประสบเหตุในภาวะภัยพิบัติ โดยมีการซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติและซ้อมแผนการช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้มีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการอยู่ประจำทุกจังหวัด รวมทั้งสิ้น 79 ศูนย์

ในประเทศแคนาดา สายด่วนการแพทย์ (Medical hotline) มีชื่อว่า Telehealth Ontario ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงสุขภาพและการดูแลสุขภาพในระยะยาว (Ministry of Health and Long-Term Care) เป็นบริการฟรี ซึ่งรักษาความลับข้อมูลเกี่ยวกับผู้โทรศัพท์เข้ามาขอคำปรึกษาด้านสุขภาพ

นั่นเป็นวิธีการที่เร็วในการเข้าถึงนักวิชาชีพสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (Qualified health professional) ในการประเมินอาการ (Symptom) และช่วยผู้โทรศัพท์เข้ามาตัดสินใจขั้นตอนแรกที่ดีที่สุด เรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง หรือจะนัดหมอ ไปสถานพยาบาล หรือแผนกฉุกเฉิน (Emergency room: ER) ของโรงพยาบาล

ผู้โทรศัพท์เข้ามา จะได้พูดคุยกับพยาบาลวิชาชีพ (Registered Nurse: RN) โดยตรง ซึ่งจะขอให้ผู้โทรศัพท์เข้ามา ช่วยอธิบายอาการ พร้อมตอบคำถามต่างๆ เพื่อประเมินความร้ายแรงของปัญหา หลังการประเมินอาการแล้ว พยาบาลวิชาชีพอาจแนะนำให้ดูแลตนเอง ให้ไปพบแพทย์ หรือติดต่อโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วยมากที่สุด

สายด่วนสุขภาพนี้ ให้บริการภาษาอังกฤษและฝรังเศส [ซึ่งเป็น 2 ภาษาราชการของแคนานา] แล้วมีการแปลเป็นภาษาอื่นๆ และหมายเลขสายตรง TDD (= Telecommunication device for the deaf) สำหรับผู้มีปัญหาในการได้ยินและการพูด (Hearing and speech) ผู้โทรศัพท์เข้ามาอาจได้รับการเชื่อมต่อไปฟังเทป ที่มีข้อมูลสุขภาพและการใช้ยา (Medication)

บริการ Telehealth Ontario เป็นการปรับปรุงการใช้ระบบสุขภาพ โดยการเข้าถึงคำปรึกษาด้านสุขภาพจากผู้มีประสบการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน และสัปดาห์ละ 7 วัน สร้างความสบายใจ (Peace of mind) แก่ผู้มีคำถามคาใจ คำปรึกษาการดูแลสุขภาพ มักเกี่ยวกับความกังวลด้านสุขภาพ อาทิ อาการที่ต้องการการเอาใจใส่จากแพทย์ การเจ็บไข้ได้ป่วย โรคเรื้อรัง โภชนาการและวิถีชีวิตที่เหมาะสม และประเด็นในเรื่องสุขภาพและวิถีชีวิตของวัยรุ่น

อย่างไรก็ตาม บริการ Telehealth Ontario นี้ ไม่สามารถทดแทน หมายเลขฉุกเฉิน 911 ในประเทศแคนาดา [หมายเลข191 ในประเทศไทย] ซึ่งควรเป็นหมายเลขแรกที่อยู่ในความทรงจำเสมอของผู้โทรศัพท์เข้ามา ในกรณีฉุกเฉิน

แหล่งข้อมูล:

  1. สพฉ. ปล่อยคาราวาน 1669 3 เร็ว 2 ดี ฟรีทั่วไทย http://www.dailynews.co.th/crime/22144 [2012, April 16].
  2. Telehealth. http://www.health.gov.on.ca/en/public/programs/telehealth/ [2012, April 16].