สถานพยาบาลระยะสุดท้าย (ตอนที่ 1)

สถานพยาบาลระยะสุดท้าย

ศ. ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ.เตรียมเปิดศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ เน้นดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีเวลาร่วมกันกับครอบครัว ด้วยเทคนิคการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) ก่อนจากไปอย่างสงบโดยวิถีธรรมชาติ

จากสถิติผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ เนื่องด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การประสบอุบัติเหตุ และปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 22,260,000 ราย

โดยในปี 2593 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากเป็นอันดับที่ 63 ของโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 14.3 ของผู้สูงอายุทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2559 สูงถึงร้อยละ 13 (ข้อมูลจาก องค์การช่วยเหลือผู้สูงอายุระหว่างประเทศประจำปี 2557) โดยที่ผ่านมา การรักษาพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ยังคงมุ่งเน้นการรักษาทางกาย มากกว่าการเยียวยาทางจิตใจ

ทั้งนี้ มธ. ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศาสตร์ด้านการแพทย์และพยาบาล จึงกำหนดจัดตั้ง “ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์” (Thammasat Hospice Palliative Care) และ “ศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการด้านการดูแลแบบประคับประคอง” (International Palliative Care Collaborating Center: IPCCC) โดยวิถีธรรมชาติแบบครบวงจรแห่งแรกของไทย เพื่อให้ปลายทางของชีวิตผู้ป่วยมีความสมบูรณ์แบบสูงสุด ภายใต้การบูรณาการศาสตร์การแพทย์ พยาบาล และนิติศาสตร์เข้าด้วยกัน

ในขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท เลขานุการศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ กล่าวเสริมว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายภายในศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์จะอยู่ในรูปแบบกึ่งบ้านกึ่งโรงพยาบาล (Hospice) ศูนย์บำบัดที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านและโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการบรรเทาทุกข์ของญาติ ตลอดจนสร้างความเข้าใจแก่ญาติในแง่ของสัจธรรมและใช้โอกาสนี้ทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

โดยจะมีทีมแพทย์ผู้รักษาและพยาบาลคอยให้คำแนะนำใน การดูแล การสื่อสาร และสังเกตปฏิกิริยาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยในแต่ละระยะ อาทิ หากผู้ป่วยมีสิ่งใดที่ติดค้างและปรารถนาจะกระทำ ทีมการดูแลทั้งแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักกฎหมาย จะร่วมมือกันกับญาติในการจัดการดูแล ตามความเชื่อและความศรัทธาที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายปรารถนา ก่อนที่จะจากไปอย่างสงบ เป็นต้น

สำหรับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ในเบื้องต้นศูนย์ธรรมศาสตร์ฯ จะรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เข้ามารักษาในลักษณะของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือญาติแสดงความประสงค์ที่สามารถกระทำได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพื่อเป็นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีหนทางไปสู่ความสงบในบั้นปลายของชีวิต

โดยมีเป้าประสงค์สำคัญ คือ การให้ความสำคัญกับผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหลัก โดยเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อให้การรักษาครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ และมีความต่อเนื่องในการประมวลผลอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

1. มธ.เตรียมเปิดศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์รองรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยวิถีธรรมชาติ. https://www.nationalhealth.or.th/node/1162 [2017, April 10].