ศีรษะเล็ก (Microcephaly)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หลายคนคงเคยสงสัยว่า ทำไมบางคนมีศีรษะขนาดโตหรือเล็กกว่าปกติ แต่ก็ไม่มีอาการผิดปกติอะไร บางคนมีขนาดศีรษะผิดปกติ และมีความพิการทางสมองเกิดขึ้น ภาวะศีรษะเล็กคืออะไร เกิดจากอะไร จะรักษาได้ด้วยวิธีไหน อ่านได้จากบทความนี้ครับ

ศีรษะเล็กคืออะไร?

ศีรษะเล็ก

ศีรษะเล็ก (Microcephaly) คือ ภาวะที่เส้นรอบวงศีรษะมีขนาดเล็กกว่าปกติอย่างมีนัยสำ คัญทางสถิติ (Statistic significant) เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปในเพศและอายุเดียวกัน โดยเป็นผลสืบเนื่องของการพัฒนาการของสมอง หรือของกะโหลกศีรษะที่ผิดปกติ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือภายหลังการคลอดก็ได้

อนึ่ง การตรวจวัดขนาดศีรษะ/เส้นรอบวงศีรษะ เป็นการตรวจโดยแพทย์ ซึ่งใช้เทคนิคการตรวจวัดเฉพาะ และนำค่าที่วัดได้มาคำนวณเปรียบเทียบกับกลุ่มเด็ก/กลุ่มคนทั่วไป ที่มีอายุ และเพศเดียวกัน ซึ่งค่าปกติ/การแปลผล มักใช้เกณฑ์ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโรค ดังรายละเอียดในเว็บขององค์การอนามัยโลก ที่อ้างอิงอยู่ในบรรณานุกรมของบทความนี้

ศีรษะเล็กเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ศีรษะเล็ก เป็นภาวะผิดปกติที่พบได้ไม่บ่อย (แต่ไม่มีรายงานสถิติที่แน่นอน เพราะสา เหตุแตกต่างกันมากในแต่ละรายงาน) พบได้ทั้งในทารกเพศหญิงและเพศชาย โดยสาเหตุพบบ่อยที่ทำให้เกิดศีรษะเล็ก คือ จากความผิดปกติทางพันธุกรรม ตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ หรือจากความผิดปกติจากสาเหตุภายนอกตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ เช่น ได้รับรังสีชนิดต่าง (เช่น รัง สีเอกซ์/รังสีจากการตรวจโรค) หรือได้รับสารเคมีต่างๆ รวมทั้งภายหลังการคลอด ที่อาจได้รับบาดเจ็บต่อสมอง เช่น ภาวะติดเชื้อ, ภาวะขาดออกซิเจน ที่ทำให้สมองไม่เจริญเติบโต ไม่มีพัฒนาการ ศีรษะจึงมีขนาดเล็กลงตามไปด้วยได้

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะศีรษะเล็ก?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดศีรษะเล็ก ได้แก่

  • สาเหตุทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม
  • ภาวะติดเชื้อของมารดา และ/หรือทารกในขณะอยู่ในครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน, อีสุกอีใส
  • ภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรงของทารก
  • ทารกได้รับสารพิษ เช่น ยาเสพติด แอลกอฮอล์
  • ทารกได้รับรังสีชนิดต่างๆ เช่น รังสีเอกซ (รังสีจากการตรวจโรค)
  • ทารกได้รับบาดเจ็บที่สมอง ขาดออกซิเจน และ/หรือติดเชื้อรุนแรง
  • ภาวะกระดูกกะโหลกศีรษะเชื่อมต่อกันเร็ว (Craniosynostosis, เป็นภาวะที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม) ทำให้สมองพัฒนาขยายขนาดไม่ได้ กะโหลกศีรษะจึงเล็กลงตามไปด้วย

อาการของภาวะศีรษะเล็กคืออะไร?

อาการผิดปกติที่พบของภาวะศีรษะเล็ก คือ เด็กมีพัฒนาการช้าในทุกด้าน ตัวเตี้ย ใบ หน้าผิดรูป ซนผิดปกติ ปัญญาอ่อน และอาจมีอาการชัก

ควรพาเด็กพบแพทย์เมื่อใด?

ปกติช่วงแรกหลังคลอด แพทย์จะมีการนัดเด็กทั่วไปมาตรวจเป็นระยะๆ เพื่อดูพัฒนาการและให้วัคซีนป้องกันโรค ซึ่งเด็กที่มีศีรษะเล็กผิดปกติ ก็มักจะได้รับการดูแลวินิจฉัยตั้งแต่แรกคลอด อย่างไรก็ตาม ถ้าปัญหาอาการหรือขนาดศีรษะเล็กไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก หรือคลอดที่บ้าน พ่อแม่/ผู้ปกครองควรสังเกตว่าทารกมีปัญหาสุขภาพหรือไม่ สังเกตเทียบขนาดศีรษะกับเด็กคนอื่นๆ ถ้าพบความผิดปกติหรือสงสัย ก็ควรพามาพบแพทย์ หรือพบแพทย์ก่อนนัด

แพทย์วินิจฉัยภาวะศีรษะเล็กได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะศีรษะเล็ก โดยพิจารณาจากประวัติทางการแพทย์ของมารดา ประวัติทางการแพทย์ก่อนคลอด ระหว่างคลอด หลังคลอด การตรวจร่างกายทารก และตรวจเส้นรอบ วงของศีรษะ แล้วเปรียบเทียบกับขนาดมาตรฐานของเด็กเพศเดียวกัน วัยเดียวกัน ว่ามีขนาดเล็กกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ ร่วมกับการตรวจประเมินพัฒนาการความผิดปกติของระบบประสาท และเอกซเรย์กะโหลก เพื่อประเมินความผิดปกติของกะโหลกศีรษะและของสมอง และถ้าสงสัยว่าอาจมีภาวะผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย ก็จะพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม/สืบค้นภา วะหรือโรคที่คิดถึงด้วย เพื่อหาทางแก้ไข รักษา ที่เหมาะสม

ภาวะศีรษะเล็กสามารถให้การวินิจฉัยก่อนคลอดได้หรือไม่?

กรณีทารกไม่มีความผิดปกติของศีรษะที่รุนแรง และไม่มีภาวะผิดปกติของอวัยวะอื่นๆร่วมด้วย การตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด ค่อนข้างยาก มักไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ ทั้งจากการตรวจครรภ์โดยแพทย์ และจากการตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์

ภาวะศีรษะเล็กรักษาอย่างไร? มีการพยากรณ์โรคและผลข้างเคียงอย่างไร?

ภาวะศีรษะเล็ก ส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาแก้ไขได้ นอกจากกรณีมีภาวะกระดูกกะโหลกศีรษะเชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็ว แพทย์ก็จะผ่าตัดแยกรอยต่อของกะโหลกศีรษะ ทั้งนี้เพราะภาวะศีรษะเล็กนี้ไม่มียาที่ใช้รักษาได้ การรักษา คือ ต้องกระตุ้น พัฒนาการของเด็กให้มากที่สุด ร่วม กับรักษาภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงบางชนิดที่ควบคุมรักษาได้ เช่น อาการชัก

ผลข้างเคียงของภาวะศีรษะเล็ก ได้แก่ การเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองล่าช้า ตัวเตี้ย ใบหน้าผิดรูป ซุกซนเกินปกติ สติปัญญาด้อยกว่าเกณฑ์ และ/หรืออาการชัก

การพยากรณ์โรคของภาวะศีรษะเล็ก คือ เป็นโรครักษาไม่หาย (ยกเว้นบางสาเหตุ) ดังได้กล่าวแล้ว ความรุนแรงของอาการขึ้นกับขนาดของศีรษะ และการมีความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งอายุขัยของเด็กที่มีภาวะศีรษะเล็ก มักสั้นกว่าอายุขัยของเด็กทั่วไปเสมอ ทั้งนี้ขึ้นกับ มีความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ รวมทั้งความรุนแรงของขนาดของศีรษะ

ดูแลภาวะศีรษะเล็กอย่างไร?

การดูแลภาวะศีรษะเล็ก ทั้งการดูแลตนเอง และการดูแลจากครอบครัว จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ตามปัญหาและความผิดปกติอื่นๆที่เกิดร่วมด้วย ที่ต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งการดูแลโดยทั่วไป คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ และพยาบาล แนะนำ
  • ควบคุมรักษาอาการผิดปกติต่างๆตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ เช่น การควบคุมอาการชัก
  • ส่งเสริมการเรียนรู้ สังคม การเข้าโรงเรียน การรู้จักดูแลตนเองของผู้ป่วย ให้เหมาะสมกับภาวะของผู้ป่วย
  • พบแพทย์ตามนัด
  • พบแพทย์ก่อนนัด เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติไปจากเดิม

ภาวะศีรษะเล็กป้องกันได้หรือไม่?

การป้องกันภาวะศีรษะเล็ก

  • ในด้านของมารดา กรณีที่ยังไม่เคยมีบุตรก็คือ มารดาต้องดูแลสุขภาพให้ดี ทั้งก่อน และในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้มีภาวะติดเชื้อ หรือได้รับสารเคมี และ/หรือรังสีต่างๆ แต่ถ้าบุตรคนแรกมีภาวะศีรษะเล็ก มารดาก็ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่า เกิดจากอะไร เพื่อป้อง กันภาวะนี้ต่อบุตรในครรภ์ถัดๆไป
  • ในด้านของทารก ครอบครัว ต้องดูแลทารกให้มีสุขภาพสมบูรณ์ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่หลีกเลี่ยงได้ (ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) ต่อการเกิดภาวะศีรษะเล็ก

สรุป

มนุษย์เราโชคดีที่มีความรู้มากมายเกี่ยวกับสุขภาพ แต่บางครั้งก็ไม่สามารถเอาชนะธรรม ชาติ หรือกรรมเก่าได้ (โรคทางพันธุกรรม) ดังนั้นความไม่มีโรคจึงเป็นลาภอันประเสริฐจริงๆ

บรรณานุกรม

  1. Head circumference -for -age http://www.who.int/childgrowth/standards/second_set/chts_hcfa_girls_z/en/index.html [2014,Jan19].