วิธีพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์หรือ อีคิวในเด็กวัยเรียน (How to improve emotional quotient of school-age children)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ลูกวัย 6-11 ปี (เด็กวัยเรียน) เป็นวัยที่พ้นจากความเป็นเด็กเล็กและก้าวเข้าสู่โลกของโรงเรียน พ่อแม่อาจคิดว่าลูกโตแล้ว ช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว จึงอาจละเลย หรือให้ความเอาใจใส่ลูกน้อยกว่าวัยอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วเด็กวัยนี้ต้องการการเอาใจใส่จากพ่อแม่ไม่แพ้วัยอื่นๆ เพราะเด็กวัยนี้ต้องปรับตัวสูงทั้งด้านการเรียน กฎระเบียบของโรงเรียน การปรับตัวกับเพื่อนและครู เด็กจึงต้องการความใกล้ชิด การได้คำชมและกำลังใจ การเรียนรู้ผ่านการสอนและเห็นแบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่ รวมทั้งการได้รับการปกป้องคุ้มครองในยามที่เขารู้สึกไม่มั่นคงหรือประสบปัญหาต่างๆ

พ่อแม่จึงควรเอาใจใส่เด็กวัยนี้ทั้งด้านสุขภาพร่างกาย การเรียน การเข้าสังคม และต้องไม่ละเลยการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence ย่อว่า EI/อีไอ หรือ บางคนเรียกว่า Emotional quotient ย่อว่า EQ/อีคิว) ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพื้นฐานอารมณ์ที่ดี รู้สึกภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตนเอง และผู้อื่น ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากเด็กเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น เลี้ยงดูแบบเข้มงวด ใช้อารมณ์เกินไป หรือตามใจ ปกป้องมากเกินไป หรือปล่อยปละละเลย เด็กก็จะเต็มไปด้วย ความเครียด วิตกกังวล หรือ เอาแต่ใจตัวเอง ไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่มีความอดทน พยายาม ในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ ปัญหาเหล่านี้จะปรากฏชัดเจนและรุนแรงขึ้นในระยะที่เด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งจะนำความหนักใจและความเดือดร้อนแก่ครอบครัว และสังคมอย่างมาก

ความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กวัยเรียนคืออะไร?

วิธีพัฒนาอีคิว

นิยามความฉลาดทางอารมณ์ของเด็ก จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต โดยกรมสุขภาพจิต ได้ให้ความหมายว่า "ความสามารถในการรู้จักดูแลและจัดการกับอารมณ์ของตนเองให้สอดคล้องกับวัย มีจริยธรรมและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข” โดย กรมสุขภาพจิตได้กำหนดกรอบโครงสร้างความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กวัย 6-11 ปี/วัยเรียน ด้วยคุณลักษณะ 3 ด้านได้แก่

  • ด้านดี คือ ความพร้อมทางอารมณ์ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้แก่ ความสามารถในการควบคุมและยับยั้งอารมณ์ตนเองได้ การใส่ใจและเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น และการยอมรับเมื่อตนเองทำไม่ดีไม่ถูกต้อง
  • ด้านเก่ง คือ ความพร้อมทางอารมณ์ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่ การมีความมุ่งมั่นพยายามในการทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จ กล้าที่จะบอกเล่าความรู้สึกและความคิดเห็นของตนเองที่มีต่อเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และปรับตัวกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้
  • ด้านสุข คือ ความพร้อมทางอารมณ์ของบุคคลที่ทำให้เกิดความสุข ได้แก่ ความพอใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า รู้จักปรับใจเมื่อพบปัญหาอุปสรรคและความไม่สมหวังต่างๆ และมีอารมณ์รื่นเริงเบิกบาน

มีวิธีพัฒนาอีคิวด้านดีของเด็กวัยเรียนอย่างไร?

วิธีพัฒนาอีคิวด้านดี “ความพร้อมทางอารมณ์ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น” ของเด็กวัยเรียน คือ

  • ฝึกให้เด็กควบคุมความอยาก และควบคุมอารมณ์ได้ เช่น อดใจทำการบ้านให้เสร็จแทนที่จะเอาแต่ดูทีวี อดใจได้ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย ไม่โต้ตอบแรงๆ เมื่อถูกเพื่อนล้อเลียน ฝึกหัดโดย
    • พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์ และบอกสอนเด็กอย่างใจเย็น
    • เมื่อเด็กโกรธ อาละวาด พ่อแม่ไม่ควรตำหนิ หรือตอบโต้กลับด้วยอารมณ์ แต่ควรบอกว่า "ลูกกำลังโกรธ เราจะไม่พูดกันตอนนี้" เมื่อเด็กอารมณ์สงบแล้ว จึงค่อยพูดคุย กระตุ้นให้เด็กพูดถึงสิ่งที่เขาโกรธ โดยพ่อแม่รับฟัง ไม่ตำหนิ แล้วจึงให้เด็กทบทวนว่า เมื่อเขาโกรธหรือรู้สึกไม่ดี เขาควรแสดงพฤติกรรมอย่างไรที่เหมาะสม รวมทั้งให้คำชมเชยเมื่อเด็กสามารถควบคุมอารมณ์โกรธได้
    • มีกฎเกณฑ์ของครอบครัวในการแสดงอารมณ์ที่เหมาะสม เช่น “เราบอกคนอื่นได้ว่าเราโกรธอะไร” “เราจะรับฟังซึ่งกันและกัน แต่เราจะไม่ระบายความโกรธด้วยการขว้างปาข้าวของ ไม่ดุด่ากันด้วยคำหยาบและไม่ทำร้ายร่างกายกัน”
    • หากเด็กอยากได้อะไร พ่อแม่ควรยืนยันที่จะให้ตามที่พ่อแม่เห็นว่าสมควร ไม่ควรตามใจหรือให้สิ่งของฟุ่มเฟือยหรือให้ของเล่นแก่เด็กมากเกินไป ควรฝึกให้เด็กรู้จักอดออม และเก็บเงินซื้อของบางอย่างด้วยตัวเอง
  • ฝึกให้เด็กรู้จักเห็นใจ ห่วงใย รู้จักแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น ฝึกหัดโดย สนับสนุนให้เด็กรู้จักแบ่งปันแก่พี่น้องและเพื่อนๆ และทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ เริ่มจากพ่อแม่ทำเป็นแบบอย่าง แล้วชักชวนให้เด็กทำตาม ให้คำชมเชย เมื่อเห็นเด็กรู้จักมีน้ำใจแก่คนอื่น
  • ฝึกให้เด็กรู้ว่าอะไรถูกผิด รู้จักยอมรับผิด และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม ฝึกหัดโดย
    • บอกเด็กให้ชัดเจนว่าสิ่งใดถูกและผิด ควรทำและไม่ควรทำ เช่น เมื่อพบผู้ใหญ่ต้องแสดงความเคารพ ขอโทษเมื่อทำผิด รู้จักการเข้า แถว
    • เมื่อเด็กทำผิดต้องให้เด็กเรียนรู้และรับโทษตามความเหมาะสม แต่ไม่ใช่การลงโทษด้วยการตุด่าหรือตีอย่างรุนแรง เช่น หากเด็กขโมยของ ต้องให้เอาของไปคืนและขอโทษเพื่อน ต้องหักค่าขนม หรือให้ทำงานบางอย่างเพื่อชดใช้เงินที่ขโมยไป รวมทั้งต้องคุย สอบถามว่าเด็กทำผิดเพราะอะไร ตั้งคำถามให้เด็กคิดว่าผลจากการกระทำนั้นจะเป็นอย่างไร และบอกให้ชัดเจนว่า พ่อแม่ไม่ชอบพฤติกรรมดังกล่าวอย่างไร
    • ฝึกระเบียบวินัยในบ้านอย่างสม่ำเสมอ เช่น ต้องรู้จักเก็บของเล่นเข้าที่ รักษาความสะอาดในบ้าน ทำกิจวัตรและเข้านอนตามเวลา รับผิดชอบทำการบ้านให้เสร็จจึงจะเล่นได้ เป็นต้น

มีวิธีพัฒนาอีคิวด้านเก่งของเด็กวัยเรียนอย่างไร?

วิธีพัฒนาความพร้อมทางอารมณ์ด้านเก่ง “ความพร้อมทางอารมณ์ในการพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จ” คือ

  • สร้างความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ และความมุ่งมั่นในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ ฝึกหัดโดย
    • สนับสนุนให้เด็กได้มีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ ที่เขาสนใจและถนัด เช่น การไปเข้าค่ายกิจกรรม การไปฝึกกีฬา หรือดนตรีที่เด็กชื่นชอบ
    • ฝึกหัดให้เด็กตั้งเป้าหมายและวางแผนทำอะไรให้สำเร็จ เช่น ตั้งใจจะเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ จะต้องฝึกอย่างไร ในแต่ละสัปดาห์ ทั้งนี้สิ่งที่เป็นเป้าหมายต้องเป็นความสมัครใจของเด็ก ให้เด็กรู้สึกสนุกและมองความสำเร็จเป็นสิ่งท้าทาย พ่อแม่ต้องระวังความคาดหวังเด็กมากเกินไป ขอให้ตระหนักว่า การส่งเสริมให้เด็กทำอะไรให้สำเร็จนั้น จะไม่มุ่งที่ผลปลายทาง แต่มุ่งที่การฝึกให้เด็กมีความอดทน มีมานะและแรงจูงใจที่จะก้าวไปข้างหน้ามากกว่า จึงควรให้กำลังใจและชมเชยเสมอเมื่อเห็นว่าเด็กได้พยายามเต็มที่แล้ว
    • ฝึกให้เด็กรู้จักจัดตารางเวลาประจำวัน ลำดับว่าควรทำอะไรก่อนหลัง ไม่ปล่อยให้งานคั่งค้าง
  • ฝึกให้เด็กปรับตัวได้ง่าย ฝึกหัดโดย
    • ปล่อยให้เด็กได้คิด ตัดสินใจเลือก ได้ลองแก้ไขปัญหาต่างๆ และเผชิญปัญหาเองบ้าง เช่น การไม่ยอมใส่เสื้อกันหนาวในวันที่อากาศเย็นตามคำเตือนของแม่ ทำให้เด็กต้องเป็นหวัด ดังนั้นหากเตือนอะไรแล้วลูกไม่เชื่อ ลองปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ผลที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง แทนที่พ่อแม่จะคอยจู้จี้หรือบอกเตือนเด็กมากเกินไป
    • ลดการออกคำสั่ง การบ่น แต่เปลี่ยนมาเป็นการบอกให้เด็กเข้าใจเหตุผลที่พ่อแม่ต้องการให้ทำสิ่งต่างๆ และฝึกให้เด็กรู้จักคิดเหตุผลด้วยตนเอง เช่น “ถ้าลูกไม่แปรงฟันแล้วผลจะเป็นอย่างไรตามมา”
  • ฝึกให้เด็กกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม โดย
    • พ่อแม่เป็นตัวอย่างของการรับฟังเหตุผล และการพูดคุยกันอย่างสุภาพ คนในครอบครัวสามารถบอกความรู้สึกและความต้องการต่างๆ ต่อกันได้
    • ชวนลูกพูดคุย เล่าเรื่องที่เขาพบเจอ และสิ่งที่เขาสนใจในแต่ละวัน
    • ฝึกให้ลูกรู้จักรับฟังคนอื่น รู้จักมารยาทของสังคม เช่น เวลาพูดให้พูดทีละคน ไม่พูดแทรกเวลาผู้ใหญ่คุยกัน รู้จักทักทาย และเป็นเจ้าบ้านที่ดีเมื่อมีแขกมาเยี่ยมเยียนบ้าน เป็นต้น

มีวิธีพัฒนาอีคิวด้านสุขของเด็กวัยเรียนอย่างไร?

วิธีพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ด้านสุข “ความพร้อมทางอารมณ์ที่ทำให้เกิดความสุข” คือ

  • พ่อแม่ควรระมัดระวังการแสดงออกทั้งคำพูดและการกระทำที่จะเป็นการดูถูก ดูแคลน เหยียบย่ำความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองของเด็ก เช่น การพูดเปรียบเทียบกับเด็กอื่นหรือระหว่างพี่น้อง การใช้คำหยาบ การด่าว่า การพูดดูถูกเด็กต่อหน้าคนอื่นๆ
  • มองด้านดีของเด็กเสมอ แล้วชื่นชมข้อดีนั้น ส่งเสริมให้เด็กได้ทำด้านดีของเขามากขึ้น รวมทั้งให้ลูกชื่นชมในข้อดีของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น เช่น ลูกเป็นเด็กอดทน ใจเย็น กิริยามารยาทดี เก่งด้านกีฬา อารมณ์ดี ฯลฯ
  • มีกิจกรรมสร้างความสุข สนุกสนาน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้เงินซื้อความสุข เช่น การทำอาหารทานร่วมกัน การเล่นกีฬาด้วยกัน การได้วาดรูป ระบายสี ปลูกต้นไม้ หรือ ไปพักผ่อนในสวนสาธารณะ เป็นต้น

สรุป

พ่อแม่ ควรตระหนักว่าหากเราอยากได้ลูกที่มีอีคิวดีๆ พ่อแม่ก็ต้องพร้อมจะลงทุนลงแรงในการวางรากฐานอารมณ์ที่ดีกับลูก การลงทุนนี้ไม่ใช้ด้วยเงินหรือวัตถุ แต่เริ่มต้นด้วยการยอมปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่างความฉลาดทางอารมณ์/อีคิวกับลูก และเลี้ยงลูกด้วยการให้ความรัก ให้เวลา ให้ความเอาใจใส่ ให้ความอดทน ด้วยคำพูดที่ชื่นชม ให้การสวมกอด ให้การรับฟัง และบอกสอนอย่างใจเย็น รวมทั้งใช้วิธีการเลี้ยงดูที่ชาญฉลาด คือ ฝึกให้เด็กรู้จักรับผิดชอบและทำอะไรด้วยตัวเองให้สำเร็จ วางรากฐานระเบียบวินัยในการใช้ชีวิต สอนให้คิดเป็นว่าอะไรถูกผิด ให้ลูกรู้จักความยากลำบาก และเผชิญความผิดหวังบ้าง สิ่งเหล่านี้ก็คือวัคซีนใจที่จะเป็นเกราะให้ลูกมีความเข้มแข็งและพร้อมจะเติบโตเป็นคนที่ดี เก่ง และมีความสุขในสังคม

บรรณานุกรม

  1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2547). คู่มือความรู้เพื่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในเด็กอายุ 3-11 ปี สำหรับพ่อแม่/ผู้ปกครอง. สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
  2. วินัดดา ปิยะศิลป์. (2554). คู่มือพ่อแม่ ตอน เด็กวัยเรียน 6-12 ปี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค.ลาดพร้าว.
  3. อมรากุล อินโอชานนท์. (2546). ความรู้เรื่องการเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์เด็กอายุ 3-11 ปี. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.