วิธีกินผงละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ในเด็ก (Oral rehydration salt/ORS in children)

บทนำ

การทดแทนน้ำและเกลือแร่ (Oral rehydration salt, ORS หรือ โออาร์เอส) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง/ท้องเสีย โดยเฉพาะในเด็ก แต่การให้ ORS ต้องให้ครั้งละน้อยๆโดยใช้ช้อนตักป้อนจะดีกว่าใส่ขวดให้เด็กดูด เพราะเด็กกำลังกระหายน้ำจะดูดอย่างรวดเร็ว จนได้รับสารน้ำปริมาณมากในครั้งเดียว จะทำให้เกิดอาการอาเจียน หรือกระเพาะอาหารลำไส้ดูดซึมไม่ทัน ทำให้ถ่ายอุจจาระมากขึ้นได้

แพทย์และเภสัชกรจะอธิบายให้พ่อแม่ของเด็กตระหนักว่า การให้สารน้ำทางปากนั้น จะป้อง กันหรือแก้ไขภาวะขาดน้ำ แต่เด็กจะยังไม่หยุดถ่ายอุจจาระ ยังคงต้องเฝ้าระวังจนกว่าเด็กจะถ่ายปกติ

ถ้าเด็กมีอาการอาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ 10 มิลลิลิตร (มล.)/น้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม (กก.)/ชั่วโมง หรือมากกว่า อาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

การให้สารน้ำเกลือแร่หรือของเหลวที่เรียกว่า ORS นี้ (บางคนเรียกว่า น้ำเกลือแร่ น้ำตาลเกลือแร่ หรือ ผงเกลือแร่/จะนำมาละลายน้ำก่อนการกิน) ควรให้กินครั้งละน้อยๆ และบ่อยๆ เพื่อให้ทางเดินอาหารเด็กดูดซึมได้ทัน และต้องไม่ลืมที่จะให้ในปริมาณที่มากพอกับที่เด็กถ่ายฯออกไป พร้อมกับให้อาหารเหลวที่เคยได้รับอยู่ เช่น ให้นมแม่ตามปกติ แต่ถ้าเป็นนมผสม ให้ผสมตามปกติ แต่ลดปริมาณนมที่ให้ลงครึ่งหนึ่งต่อมื้อ

และถ้าถ่ายฯเป็นน้ำครั้งละมากๆ ให้ดื่ม ORS 10 มล.)/น้ำหนักตัวเด็ก 1 กก. ทดแทนต่อครั้งที่ถ่ายฯ หรือให้ ORS 30-90 มล./กก./วัน เพื่อแทนปริมาณอุจจาระทั้งวัน

แต่ถ้าเด็กถ่ายฯกะปริบกะปรอยหรือครั้งละน้อยๆ ไม่จำเป็นต้องกำหนดจำนวน ORS แต่ให้ดื่ม ORS เพิ่มขึ้นตามอาการกระหายน้ำของเด็ก

การรักษาภาวะขาดน้ำด้วยสารน้ำเกลือแร่ทางปาก (ORS)

เมื่อเด็กมีอุจจาระร่วง/ท้องเสีย ผู้ปกครองควรเน้นการ “แก้ไขภาวะขาดน้ำ” ในช่วง 4-6 ชั่ว โมงแรกหลังอุจจาระร่วงด้วยสารละลายเกลือแร่ ORS และหลังจากนั้นให้ต่อด้วย”การให้สารน้ำเพื่อการผดุงไว้ (Maintenance) เพื่อเป็นการป้องกันภาวะขาดน้ำ” โดยคิดปริมาณ ORS ดังนี้ คือ

  • ภาวะขาดน้ำน้อย อาการเด็กคือ เด็กกระสับกระส่าย เบ้าตาลึก กระหายน้ำ/ดื่มน้ำอย่างกระหาย ทั้งหมดให้อาการไม่มาก ไม่ชัดเจน “การแก้ไข” คือ ให้สารน้ำทางปาก 50 มล./กก. ใน 4 ชม.แรก และให้สารน้ำฯเพื่อ ”การผดุงไว้ (Maintenance)” 100 มล./กก. จนครบ 24 ชั่วโมง
  • ขาดน้ำปานกลาง อาการเด็กคือ เด็กกระสับกระส่าย เบ้าตาลึก กระหายน้ำ/ดื่มน้ำอย่างกระหาย ปัสสาวะน้อย ทั้งหมดให้อาการชัดเจน “การแก้ไข” คือ ให้สารน้ำทางปาก 100 มล./กก. ใน 4 ชม.แรก และให้เพื่อ “การผดุงไว้ (Maintenance)” 100 มล./กก. จนครบ 24 ชั่วโมง และควรต้องรีบนำเด็กไปโรงพยาบาล
  • ขาดน้ำมาก อาการเด็กคือ อ่อนเพลียมาก ซึม ไม่ดื่มน้ำ หรือดื่มน้อยมาก ไม่มีปัสสา วะ “การแก้ไข” คือ ให้สารน้ำทางปากให้เร็วและมากที่สุดพร้อมทั้งรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลฉุก เฉินทันที เพื่อให้ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ (Intravenous fluid/IV fluid)
 

การให้อาหารแก่เด็กระหว่างมีอาการอุจจาระร่วง และหลังจากหายแล้ว

การให้อาหารแก่เด็กระหว่างท้องร่วง/ท้องเสีย และหลังจากอาการหายแล้ว เพื่อป้องกันการขาดอาหาร ให้เริ่มให้อาหารภายหลังจากให้ ORS กินทางปากแล้ว 4 ชั่วโมง

  • ถ้าเลี้ยงด้วยนมแม่ ให้ลูกดูดนมให้มากขึ้น
  • ถ้าไม่ได้เลี้ยงด้วยนมแม่ให้ปฏิบัติดังนี้
    • เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่กินนมผสม ให้ผสมตามปกติ แต่แบ่งให้เด็กกินครึ่งเดียวสลับเป็นสารละลายเกลือแร่ ORS อีกครึ่งหนึ่ง รวมแล้วปริมาณเท่ากับนมที่เคยกินตามปกติ
    • เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ให้อาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งเตรียมเป็นอาหารเหลวที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มผสมกับผัก ปลาต้ม เนื้อสัตว์ต้มเปื่อย ให้เด็กกินระหว่างท้องร่วง/ท้องเสีย และให้เป็นอาหารพิเศษเพิ่มอีกวันละ 1 มื้อ เป็นเวลา 2 อาทิตย์หลังจากหายท้องร่วง หรือจนกว่าเด็กจะมีน้ำหนักกลับเป็นปกติ
  • ควรปรุงและบดหรือสับอาหารให้ละเอียด
  • พยายามให้เด็กกินอาหารให้ได้มากที่สุดเท่าที่เด็กต้องการ เพราะถ้าบังคับมาก เด็กจะอาเจียน
  • ให้กินกล้วยน้ำว้าสุกหรือน้ำมะพร้าวเพื่อเพิ่มแร่ธาตุ/เกลือแร่ โพแทสเซียม
  • ถ้าดื่มนมผสม ควรงดนมไว้ก่อน ให้ ORS อย่างน้อย 1 ออนซ์ (ประมาณ 30 มล.)/น้ำหนักตัวเด็ก 1 กก./วัน เป็นเวลา 12 ชั่วโมง แล้วเริ่มให้นมผสมปกติต่อไปในปริมาณที่เท่ากันอีก 12 ชั่วโมง
 

สิ่งสำคัญที่ควรทราบ

ต้องรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อเด็กมีอาการดังนี้

  • อุจจาระเป็นน้ำหลายครั้งต่อวัน และไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อเป็นเด็กเล็ก
  • มีไข้ร่วมด้วย
  • ปวดท้อง
  • อาเจียน
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • ปัสสาวะน้อย
  • ผู้ปกครองกังวลในอาการ

ต้องพาเด็กไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน ทันที เมื่อเด็กมีอาการดังนี้

  • ปากแห้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือ มีกระหม่อมบุ๋ม
  • ร้องไห้ไม่มีน้ำตา
  • ไม่มีปัสสาวะ
  • ซึม
  • อ่อนเพลีย กินได้น้อย ไม่ยอมกิน
 

บรรณานุกรม

  1. แนวปฏิบัติการรักษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน: http://www.thaipediatrics.org/cpg_file/1.doc [2013,Aug5].
  2. Assessing dehydration in children http://www.patient.co.uk/doctor/assessing-dehydration-in-children [2013,Aug5].
  3. Diarrhea http://kidshealth.org/parent/infections/common/diarrhea.html# [2013,Aug5].