วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ (Vitamin K antagonist)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ หรือ ยาต้านวิตามินเค (Vitamin K antagonist) เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดที่มีการใช้ในวงการแพทย์มายาวนานมากกว่า 50 ปี โดยตัวยาจะส่งผลต่อต้านการทำงานของวิตามิน เค (Vitamin K)ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสังเคราะห์สารที่เป็นปัจจัยต่อการแข็งตัวของเลือด ระหว่างที่ได้รับยากลุ่มนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจวัดและควบคุมระดับของเกล็ดเลือดในร่างกายร่วมกับการตรวจวัดอัตราการแข็งตัวของเลือด ควบคู่กันไป

วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์แบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง?

วิตามินเคแอนตาโกนิสต์

ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอนุพันธ์ ดังนี้

1. อนุพันธ์คูมาริน(Coumarins) หรือเรียกว่า 4-ไฮดรอกซีคูมาริน (4-hydroxycoumarins)ที่ประกอบด้วย

  • Warfarin: ในช่วงเริ่มต้น มนุษย์ใช้ยานี้เป็นยากำจัดสัตว์ประเภทฟันแทะ เช่น หนูและมีการพัฒนานำมาใช้กับมนุษย์โดยใช้เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดและในถุงลมปอด ตลอดจนกระทั่งเป็นยาบำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัจจุบันยาชนิดนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
  • Coumatetralyl: มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด และเป็นพิษกับสัตว์จำพวกฟันแทะ ปัจจุบันไม่มีการใช้ยาชนิดนี้กับมนุษย์
  • Phenprocoumon: มีฤทธิ์ปิดกั้นการสังเคราะห์สารประกอบที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการแข็งตัวของเลือด เช่น Factor II, Factor VII, Factor IX และ Factor X ใช้เป็นยาป้องกันและบำบัดอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด(Thromboembolic disorders) มีจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Marcoumar, Marcumar, และ Falithrom
  • Acenocoumarol: มีคุณสมบัติต้านการแข็งตัวของเลือดคล้าย Warfarin เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาสามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนาน 8–11 ชั่วโมง สามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Sinthrome
  • Dicoumarol: เป็นยารับประทานมักใช้ร่วมกับยาเฮพาริน (Heparin) เพื่อบำบัดอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ/ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาดจะก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายที่ควบคุมได้ยาก จึงอาจเป็นเหตุผลที่ ประเทศอเมริกาเพิกถอนการจำหน่ายยาชนิดนี้
  • Tioclomarol: มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดและพบเห็นการใช้เป็นยากำจัดหนูเท่านั้น
  • Brodifacoum: ถูกนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงและยากำจัดสัตว์ประเภท Possum

2. อนุพันธ์อินแดนดิโอนส์ (Indandiones) ประกอบด้วย

  • Pindone: มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดแต่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรในฐานะยาฆ่าหนูและกระต่ายที่เข้ามาก่อกวนพืชผลของเกษตรกร
  • Chlorophacinone: จัดเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดที่มีพิษมาก ปัจจุบันถูกนำมาใช้เป็นยาฆ่าหนู
  • Diphacinone: ใช้เป็นยาสำหรับกำจัดสัตว์กลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่นหนู กระต่าย
  • Anisindione: เป็นประเภทยาสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด อาจไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก และมีจำหน่ายเพียงบางประเทศเท่านั้น
  • Phenindione: มีการออกฤทธิ์คล้าย Warfarin แต่ทางคลินิกพบว่ายานี้กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้กับผู้ที่ได้รับยาบ่อยมากจึงไม่ค่อยนิยมใช้
  • Fluindione: ถึงแม้จัดอยู่ในสารประเภท Vitamin K antagonist แต่ยังไม่มีข้อสรุปประโยชน์ทางคลินิก จึงไม่พบเห็นการใช้สารประกอบนี้

วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดและป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือดในหลอดเลือด

วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ทั่วไป กลไกการแข็งตัวของเลือดจะมีวิตามิน เค (Vitamin K) เป็นตัวกระตุ้นสารชีวโมเลกุลต่างๆที่เป็นปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด เช่น แฟคเตอร์ ทู (Factor II), แฟคเตอร์ เซเว่น (Factor VII), แฟคเตอร์ ไนน์ (Factor IX), แฟคเตอร์ เทน (Factor X), Protein S Protein C, และ Protein Z สารชีวโมเลกุลเหล่านี้กระตุ้นกลไกการรวมตัวของเกล็ดเลือดและองค์ประกอบอื่นๆในร่างกายจนเกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้นมา หลัง จากวิตามิน เค ทำหน้าที่กระตุ้นสารชีวโมเลกุลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ตัวมันจะถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่ไม่ออกฤทธิ์ ร่างกายจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Vitamin K epoxide reductase ซึ่งเอนไซม์นี้จะกระตุ้นให้วิตามิน เคในรูปที่ไม่สามารถออกฤทธิ์เปลี่ยนไปเป็นวิตามิน เคที่สามารถออกฤทธิ์ และทำงานได้อีก วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์จะเข้ายับยั้งการทำงานของ Vitamin K epoxide reductase ทำให้วิตามิน เค ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ส่งผลให้กระบวนการรวมตัวของเกล็ดเลือดหรือการแข็งตัวของเลือดถูกยับยั้ง และก่อให้เกิดประโยชน์ทางคลินิกตามสรรพคุณ

วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

เภสัชภัณฑ์ของยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ส่วนมากจะเป็นยาแบบรับประทานที่มีขนาด ความแรงแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัวยา

วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาในกลุ่มวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ที่นำมาใช้ทางคลินิกมีความแรงและขนาดรับประทานที่แตกต่างกันออกไป ระหว่างการใช้ยานี้ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานขึ้นหรือลดลงตามความเหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป และการใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างปลอดภัยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

แต่เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ ตรงขนาดและตรงเวลาตามคำสั่งแพทย์

วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจสรุปผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่เกิดจากการใช้ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจพบมีเลือดออกตามเหงือก เกิดเลือดกำเดาไหล ประจำเดือนมามากผิดปกติ กรณีเกิดแผลจะมีเลือดออกมากและใช้เวลานานกว่าปกติเพื่อให้เลือดหยุด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาจเจียน ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อกระดูก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะรุนแรง มีไข้
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้เบื่ออาหาร
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน ผมร่วง ผิวเป็นจ้ำ/รอยแดง
  • ผลต่อหลอดเลือด: เช่น เกิดอาการหลอดเลือดอักเสบ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง
  • อื่นๆ: เช่น ไอเป็นเลือด

อนึ่ง อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคลต่อกลุ่มยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป

มีข้อควรระวังการใช้วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมาใหม่ๆ
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุรา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร-ลำไส้ ผู้ที่มีบาดแผลตามร่างกาย ผู้ป่วยติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ /เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาตรวจร่างกาย/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Acenocoumarol ร่วมกับยาบางกลุ่มอย่าง NSAIDs , Amiodarone, Co-trimoxazole , Cephalosporins , Erythromycin อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากยา Acenocoumarol ได้มากขึ้น เช่น มีภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Warfarin ร่วมกับดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ อาจพบเลือดออกตามร่างกายได้ง่ายขึ้น และถ้ามีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารอาจพบว่าอุจจาระจะมีสีดำ
  • การใช้ยาDicoumarol ร่วมกับยาบางตัว สามารถทำให้ฤทธิ์ของยา Dicoumarol เพิ่มขึ้นจนอาจเกิดผลเสีย/ผลข้างเคียงรุนแรงกับคนไข้/ผู้ป่วย ยากลุ่มดังกล่าว เช่น Acetaminophen / Paracetamol, Aspirin, Allopurinol, Amidarone, Amprenavir, Atazanavir, Capecitabine, Ceftriaxone, Celecoxib, Cimetidine, Ciprofloxacin, Cisapride หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ ตามข้อกำหนดในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

วิตามิน เค แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาวิตามิน เค แอนตาโกนิสต์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Befarin (เบฟาริน)Berlin Pharm
Cogulax (โคกูแลกซ์)Pond’s Chemical
Fargem (ฟาร์เจม)M. J. Biopharm
Maforan (มาฟอแรน)Sriprasit Pharma
Morfarin (มอร์ฟาริน)Charoon Bhesaj
Orfarin (ออร์ฟาริน)Orion
Zydarin (ไซดาริน)Zydus Cadila
SINTHROME (ซินโทรม)Novartis
Dicoumarol (ไดคูมารอล)Eli lilly

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_K_antagonist [2018,May12]
  2. https://www.medicinenet.com/warfarin/article.htm#what_are_the_side_effects_of_warfarin? [2018,May12]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Acenocoumarol [2018,May12]
  4. http://www.drugs.com/uk/acenocoumarol-1mg-tablets-leaflet.html [2018,May12]