วิกฤติเชื้อดื้อยา (ตอนที่ 1)

วิกฤติเชื้อดื้อยา

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดแถลงข่าว “สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2559” โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ส่งผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 46,000 ล้านบาท จึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 - 2564 เพื่อเป็นกรอบในการทำงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 จะลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพในคนลงร้อยละ 2 ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลงร้อยละ 30 ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และมีระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลไม่ต่ำกว่าระดับ 4

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 - 38,000 คน ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการขนส่ง และยังส่งผลให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาต้องอยู่ในโรงพยาบาลโดยรวมนานขึ้น 3.24 ล้านวัน หรือเฉลี่ยคนละ 24-46 วัน

สาเหตุที่ทำให้คนไทยมีผู้ป่วยเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุสมผล โดยพฤติกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เช่น ซื้อยาปฏิชีวนะกินตามคนอื่น หยุดรับประทานยาปฏิชีวนะเมื่อมีอาการดีขึ้น ซื้อยาปฏิชีวนะกินเองตามที่เคยได้รับจากแพทย์ครั้งก่อนๆ หรือใช้ยาอมที่ผสมยาปฏิชีวนะ

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ระหว่างวันที่ 14-20 พฤศจิกายน เป็นสัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2559 ในส่วนของประเทศไทย กพย. ได้สร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในปีนี้ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อรณรงค์ให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลทั้งในคนและในการเกษตร

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) และ RDU Hospital Project กล่าวว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังคงสั่งยาต้านแบคทีเรียให้กับ 3 โรคที่รักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่

  1. โรคหวัด ไอ เจ็บคอจากไวรัส
  2. ท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ และ
  3. บาดแผลทั่วไป

บรรณานุกรม

1. 3 โรคไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ไทยตั้งเป้าลดผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยา 50% ใน 5 ปี. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000115651&Keyword=%e2%c3%a4 [2016, November 26].