วาร์ฟาริน ใช้ถูกเป็นคุณ ใช้ผิดเป็นโทษ (ตอนที่ 1)

วาร์ฟารินใช้ถูกเป็นคุณใช้ผิดเป็นโทษ-1

      

      นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่สำคัญระดับประเทศ เนื่องจากปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชาชน และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น

      โดยมีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย ภาวะเครียด สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์

      ทั้งนี้โรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย อาทิ โรคลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจรูมาติก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดในปอด เส้นเลือดแดงบริเวณ แขน ขา หรือเส้นเลือดดำใหญ่ เส้นเลือดสมองอุดตันจากลิ่มเลือด และการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับยาวาร์ฟารินในการรักษา

      นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยาวาร์ฟาริน เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด หรือก้อนเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของการอุดตันในระบบไหลเวียนเลือดของร่างกาย

      แต่เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนและอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง การตายของเนื้อเยื่อหรือผิวหนัง การเกิดรอยช้ำจ้ำเลือด ไอมีเลือดปน เป็นต้น

      กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีเป้าหมายให้โรงพยาบาลในสังกัดอย่างน้อย 1 แห่งในทุกเขตบริการ จัดตั้งวาร์ฟารินคลินิกเพื่อดูแลผู้ป่วยให้ใช้ยาวาร์ฟารินอย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์

      ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เป็นยาเม็ดที่ใช้กิน เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants) ใช้รักษาและป้องกันภาวะการแข็งตัวของเลือดหรือเกล็ดเลือดจับตัวเป็นลิ่ม (Blood clots) ที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจวาย (Heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และภาวะรุนแรงอื่นที่เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ขาหรือปอด โดยวาร์ฟารินช่วย

  • ลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิต
  • ป้องกันและรักษาลิ่มเลือดของผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด (Atrial fibrillation = AF) หรือผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Heart valve replacement)
  • ป้องกันและรักษาภาวะลิ่มเลือดในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่ขาทำให้เป็นเส้นเลือดขอดหรือโรคหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep vein thrombosis) และที่ปอดทำให้เป็นโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)

แหล่งข้อมูล:

  1. “วาร์ฟารินคลินิก” ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างครบวงจร. http://www.thaihealth.or.th/Content/43089-“วาร์ฟารินคลินิก” ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างครบวงจร.html [2018, Aug 8].
  2. Warfarin, Oral Tablet. https://www.healthline.com/health/warfarin-oral-tablet#about [2018, Aug 8].