วารีบำบัด (ตอนที่ 2)

สำหรับผลที่ได้จากการรักษา นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า สามารถลดปวดและลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อ เพิ่มความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานของร่างกาย เช่น การเดินและการทรงตัว เพิ่มระบบการไหลเวียน ตลอดจนช่วยผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ

ธาราบำบัด/วารีบำบัด สามารถใช้กับการฟื้นฟูสภาพร่างกาย (Physical rehabilitation) และการออกกำลังกาย เพราะเมื่อออกกำลังกายในน้ำจะสามารถลดความตึงที่กระดูกและข้อต่อได้ นอกจากนี้น้ำยังทำให้เกิดแรงต้านในการเคลื่อนไหวซึ่งช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงยิ่งขึ้น

บ้างก็กล่าวว่า การอาบน้ำอุ่นสามารถช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบย่อยอาหารแข็งแรง กระตุ้นจิตใจ นอกจากนี้ยังกล่าวว่า กระแสน้ำที่กระทบผ่านส่วนต่างๆ ของร่างกายสามารถช่วยลดอาการปวดศีรษะ ลดความกังวล อัมพาต และการแข็งตัวของเนื้อเยื่อร่างกายส่วนต่างๆ (Sclerosis)

โดยทั่วไปธาราบำบัด/วารีบำบัด จะถือเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่สำหรับคนที่ขี้โรค ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก อาจจะมีภาวะขาดน้ำหรือสารเคมีในเลือดขาดความสมดุลเมื่ออยู่ในน้ำที่อุ่นหรืออยู่ในห้องเซาว์น่า นอกจากนี้หญิงมีครรภ์และคนที่มีเป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดอาจจะเกิดปัญหาเมื่อมีการใช้น้ำที่ร้อนหรือเย็นมากๆ

เพราะน้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายคน ดังนั้น The Food and Nutrition Board of the National Academies of Science ของสหรัฐอเมริกาจึงได้แนะนำว่า ปริมาณน้ำที่ควรบริโภคต่อวัน (Adequate Intake = AI) สำหรับผู้ชาย (อายุมากกว่า 18 ปี) อยู่ที่ 3.7 ลิตรต่อวัน ผู้หญิงอยู่ที่ 2.7 ลิตรต่อวัน ส่วนหญิงมีครรภ์อยู่ที่ประมาณ 3 ลิตรต่อวัน และหญิงให้นมบุตรอยู่ที่ 3.8 ลิตรต่อวัน

โดยปริมาณน้ำที่ควรบริโภคต่อวันนี้รวมถึง น้ำที่ได้จากการกินอาหารและดื่มน้ำชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำเปล่าด้วย เช่น น้ำจากผลไม้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความร้อนสูง เช่น ออกกำลังกายแล้วมีเหงื่อออกมาก ปริมาณน้ำจะเพิ่มตามไปด้วย หรือมีบางกรณีที่เป็นการรักษาคนไข้ที่เป็นนิ่วหรือท้องผูกอาจต้องให้มีการกินน้ำให้มากขึ้น ในขณะที่บางกรณีอาจต้องให้คนไข้จำกัดปริมาณน้ำลง เช่น โรคไตวาย หรือโรคหัวใจล้มเหลว

ธาราบำบัด/วารีบำบัด ที่ใช้การออกกำลังกายในน้ำในจะแตกต่างจากการว่ายน้ำปกติทั่วไป กล่าวคือ อุณหภูมิของน้ำที่ใช้ในธาราบำบัดจะอุ่นกว่าน้ำในสระทั่วไป โดยอยู่ที่ประมาณ 33-36 ºC และมีการใช้ท่าออกกำลังกายพิเศษ

นอกจากนี้ธาราบำบัด/วารีบำบัด ก็แตกต่างจากแอโรบิคน้ำ (Aquarobics) ในแง่ที่แอโรบิคน้ำต้องใช้กำลังมาก แต่ธาราบำบัดจะเน้นไปที่ความช้า เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวและเพื่อผ่อนคลาย

ส่วนสปา (Spa therapy) นั้นจะเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำที่มีแร่ธาตุ (Mineral) เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ซึ่งหลายประเทศในยุโรปก็มักจะเอาธาราบำบัดไปอยู่ในธุรกิจสปาด้วย แม้ว่างานวิจัยบางฉบับจะกล่าวว่าแร่ธาตุที่อยู่ในน้ำทำให้เกิดความแตกต่าง แต่ก็มีงานวิจัยอื่นๆ ที่ระบุว่า ธาราบำบัด/วารีบำบัด ล้วนมีประโยชน์ไม่ว่าจะใช้น้ำประเภทไหนก็ตาม

แหล่งข้อมูล:

  1. กรมการแพทย์แนะธาราบำบัดรักษาผู้พิการ http://www.naewna.com/local/77234 [2013, December 15].
  2. Hydrotherapy. http://www.cancer.org/treatment/treatmentsandsideeffects/complementaryandalternativemedicine/manualhealingandphysicaltouch/hydrotherapy [2013, December 15].
  3. What is hydrotherapy?. http://www.arthritisresearchuk.org/arthritis-information/therapies/hydrotherapy/what-is-hydrotherapy.aspx [2013, December 15].