เรื่องเฉพาะสตรี...วัยเจริญพันธุ์ ตอนที่ 5

สารบัญ

การคลอด มีวิธีการอย่างไรบ้าง?

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับวิธีการคลอดชนิดต่างๆมาบ้างแล้ว ไม่มากก็น้อย โดยทั่วไปนั้นก็สามารถแบ่งวิธีคลอดออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ การคลอดแผนธรรมชาติ การคลอดแผนโบราณ การคลอดแผนปัจจุบันครับ ผมเองพอจะกล่าวถึงในรายละเอียดได้บ้างดังนี้

  1. การคลอดแผนธรรมชาติ มีปรัชญาอยู่ว่า ที่มนุษย์เราสามารถสืบทอดเผ่าพันธุ์และอารยธรรมมาได้จนถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะมนุษย์ผู้หญิงนั้นมีสัญชาติญาณในการคลอดบุตรด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีใครเข้ามาให้การช่วยเหลือ หรือแนะนำสั่งสอนแต่ประการใด ท่าคลอดควรจะเป็นท่าใดสามัญสำนึกจะบอกเอง ทำอย่างไรอาการปวดจึงจะทุเลาสามัญสำนึกก็จะบอกให้ทำเอง ดังนั้นการคลอดธรรมชาติจึงไม่ต้องการผู้ช่วยเหลือ เช่น แพทย์ ผดุงครรภ์ พยาบาล หรือยาแก้ปวดเลย เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องไปคลอดตามป่า ตามเขา เท่านั้นเองครับ ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ก็มีบริการให้ใช้สถานที่ในการคลอดธรรมชาติอยู่นะครับ แถมมีทีมงานผู้เฝ้าดูแลประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล และสามีของผู้คลอดเอง ช่วยเฝ้าดูความก้าวหน้าของการคลอด และอันตรายที่อาจเกิดแก่ มารดาและทารก และพร้อมที่จะแก้ไขให้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย
  2. การคลอดแผนโบราณ วิธีการคลอดชนิดนี้มีอยู่ในทุกชนชาติทุกภาษาครับ โดยเกิดจากความพยายามที่จะให้มีผู้เข้าไปช่วยในการคลอดแก่ผู้คลอดให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ผู้ช่วยคลอดนี้มักเป็นสตรีอาวุโสในท้องถิ่นนั้นๆเองซึ่งมีทั้งประสบการณ์ตรงจากการคลอดด้วยตนเอง จากการลองผิดลองถูก จากการอบรมสั่งสอนสืบต่อกันมา (ภูมิปัญญาชาวบ้าน) หรือจากการฝึกฝนอบรมอย่างเป็นทางการด้านการแพทย์แผนโบราณมา คนไทยมักเรียกผู้ช่วยคลอดนี้ว่า “หมอตำแย” แต่ชื่ออย่างเป็นทางการคือ “ผดุงครรภ์โบราณ” ครับสถานที่ให้บริการจึงมักเป็นที่บ้านของผู้คลอดเอง เครื่องไม้เครื่องมือก็มักเป็นเครื่องครัวนั่นเองร่วมกับวัสดุและ ยา พื้นบ้านต่างๆ (เช่น ไม้ไผ่ เกลือ กาต้มน้ำ เตาถ่าน สมุนไพร ด้าย เป็นต้น) นอกจากนี้ยังมีการอยู่ไฟหลังคลอดด้วย แต่ขอเตือนว่าอย่าเอาทารกเข้าไปอยู่ไฟด้วยกันนะครับ ทารกอาจได้รับอันตรายจากความร้อน คือ ภาวะขาดน้ำ หรือผิวหนังไหม้ได้
  3. การคลอดแผนปัจจุบัน ก็เป็นวิธีการคลอดตามแบบแผนทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาวิจัย ซึ่งมีรากฐานมาจากการแพทย์แผนตะวันตกนั่นเอง สูติแพทย์ที่ท่านพบเห็นและไปฝากครรภ์ด้วยในปัจจุบัน (รวมผมด้วย) ล้วนได้รับการฝึกฝนอบรมมาในแนวทางนี้ทั้งสิ้นครับ โดยมีสถาบันต้นสังกัดที่คอยให้การฝึกฝนอบรบและกำกับดูแลมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพโดยตรงคือ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและแพทยสภาครับ ในการคลอดแผนนี้แบ่งวิธีการคลอดออกได้เป็น 3 วิธีใหญ่ๆครับ คือ
  1. การคลอดเองทางช่องคลอด (การคลอดธรรมดา หรือการคลอดปกติ) ขณะคลอดผู้คลอดจะต้องนอนหงายยกขาขึ้นงอเข่าทั้งสองข้าง (ท่าขบนิ่ว) สามารถใช้คลอดทารกที่ตัวไม่ใหญ่กว่าช่องเชิงกราน/อุ้งเชิงกรานของแม่ได้ เฉพาะในรายที่ทารกอยู่ในท่าศีรษะ ท่าก้น (บางราย) และท่าหน้านอนหงาย แต่ไม่สามารถใช้คลอดทารกที่อยู่ในท่าหน้านอนคว่ำ และท่าขวางได้ อาจมีการบล็อกหลัง (ฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง/ Spinal block) เพื่อช่วยลดอาการปวดจากการเจ็บครรภ์และการคลอดด้วยก็ได้ แม้ผู้คลอดมีอาการชาแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะยังเบ่งคลอดได้อยู่ หากความก้าวหน้าของการคลอดมีปัญหา แพทย์ก็อาจใช้เครื่องมือช่วยในการคลอดทางช่องคลอดต่อได้ทันที
  2. การคลอดทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องมือช่วย วิธีการคลอดก็คล้ายคลึงกันกับข้อ 3.1 แต่จะใช้เครื่องมือในการดึงเอาทารกออกมาจากช่องคลอดด้วย เครื่องมือนั้นก็มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ เครื่องดูดและคีม เครื่องดูดนั้นจะใช้ปลายของมันซึ่งอาจเป็นโลหะหรือไซลาสติก (Silastic) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-6 เซนติเมตร วางลงบนหนังศีรษะของทารก แล้วทำให้เกิดสุญญากาศแรงขึ้นตามลำดับจนหนังศีรษะติดแน่นกับเครื่องมือ (ใช้เวลาประมาณ 8 นาที) แล้วจึงช่วยดึงทารกออกมาพร้อมกันกับแรงจากการที่มดลูกหดรัดตัว และแรงจากการเบ่งของผู้คลอด (ลูกของผมเองก็คลอดโดยวิธีนี้ครับ) ส่วนคีมนั้นเป็นเครื่องมือโลหะมีสองข้าง ปลายด้านหนึ่งใช้คีบจับศีรษะทารก อีกด้านหนึ่งใช้ออกแรงบีบและจับดึงโดยผู้ใช้ ตรงกลางมีจุดหมุนซึ่งเป็นข้อต่อระหว่างทั้งสองข้างด้วย เมื่อใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อจับศีรษะทารกได้ถูกต้องแล้วก็สามารถดึงได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอการหดรัดตัวของมดลูกเหมือนอย่างเครื่องดูด การคลอดทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องมือช่วยนี้แพทย์มักจะทำการบล๊อกหลังเสียก่อน หากสถานการณ์ไม่อำนวยจริงๆก็อาจบล๊อกเพียงเส้นประสาทที่อยู่ในช่องเชิงกรานแทน ข้อบ่งชี้ในการช่วยคลอดโดยวิธีนี้ก็ได้แก่ ผู้คลอดเบ่งได้ไม่ดี หรือดีแต่หมดแรงแล้ว ทารกอยู่ในภาวะคับขันเช่น ภาวะขาดออกซิเจน ถ่ายขี้เทา/อุจจาระในถุงน้ำคร่ำ สายสะดือโผล่แลบ ช่วยให้แม่ที่เป็น โรคหัวใจ และ โรคความดันโลหิตสูง ได้คลอดโดยเร็ว เป็นต้น
  3. การคลอดโดยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดช่องท้องและมดลูก เพื่อนำเอาทารกที่โดยขนาดและอายุครรภ์อย่างน้อยสามารถเลี้ยงให้รอดได้แล้ว ออกมาทางแผลผ่าตัดหน้าท้องแล้วเย็บแผลปิด ผู้คลอดจะอยู่ในท่านอนหงายธรรมดา อาจบล๊อกหลังหรือดมยาสลบเพื่อรับการผ่าตัดก็ได้ นิยมทำกันมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน อาจเนื่องมาจากการมีบุตรกันน้อยลงและเริ่มมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น -มีข้อบ่งชี้ให้ทำโดยสมบูรณ์/Absolute indication (ถ้าไม่ทำ อาจเสียแม่หรือลูก แพทย์ควรเป็นผู้ตัดสินใจแล้วแจ้งให้ผู้คลอดทราบ) ในรายที่มีการคลอดติดขัดเนื่องจากศีรษะ (หรือก้น) ของทารกใหญ่กว่าช่องเชิงกรานของมารดา มีรกเกาะต่ำจนอาจทำให้เกิดการตกเลือดมากหากจะคลอดทางช่องคลอด หรือรกขวางทางคลอด ทารกอยู่ในท่าขวางหรือท่าหน้านอนคว่ำ ทารกอยู่ในภาวะคับขันแต่ปากมดลูกยังไม่เปิดหรือเปิดไม่พอ ตั้งครรภ์เกินกำหนดและชักนำการคลอดแล้วไม่สำเร็จ ผู้คลอดเคยมีกระดูกเชิงกรานหัก เป็นต้น -ส่วนข้อบ่งชี้สัมพัทธ์/ข้อบ่งชี้ที่อาจจำเป็นในบางกรณี/ Relative indication (แพทย์ควรให้ข้อมูลเพื่อการพิจารณาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย แล้วให้โอกาสผู้คลอดเลือก) ได้แก่ ครรภ์แรกเมื่อผู้คลอดอายุมากกว่า 35 ปี ทารกอยู่ในท่าก้น เคยผ่าตัดคลอดบุตรมาก่อน มีบุตรยากมาก่อนตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์เกินกำหนดร่วมกับคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์มากกว่า 4.5 กิโลกรัม เป็นต้น

สตรีตั้งครรภ์หรือผู้คลอดไม่ควรขอให้แพทย์ ผ่าตัดคลอดให้ โดยไม่จำเป็นนะครับ (เช่น อยากได้ฤกษ์ดี กลัวการเจ็บครรภ์ กลัวช่องคลอดหลวม-มดลูกหย่อน) เพราะการผ่าตัดนั้นย่อมก่อให้เกิดพังผืดในช่องท้อง แผลเป็น และการปวดท้องน้อยเรื้อรังได้ อีกทั้งช่วงโอกาสทองที่จะได้สร้างสายสัมพันธ์ด้วยการให้นมบุตรในช่วงหลังคลอดทันที ยังจะเสียไปอีกด้วย เนื่องจากแม่ยังมึนงงจากฤทธิ์ยาและเจ็บแผลอยู่ และอาจเสียไปตลอดเลยทีเดียว เพราะการเจ็บแผลนั้นเองที่ทำให้ไม่สามารถให้นมบุตรจนประสบความสำเร็จได้ในช่วงแรก และช่วงต่อไปก็ย่อมประสบความสำเร็จได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้เมื่อเคยผ่าตัดคลอดแล้วท้องต่อไปแพทย์ก็มักจะแนะนำให้ผ่าตัดซ้ำอีก การผ่าตัดครั้งหลังๆก็จะยากขึ้นและมีแผลเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ อยากมีลูกมากกว่า 2 คน แพทย์ก็มักจะไม่ส่งเสริมให้มีอีกแล้วครับ มักจะขอร้องให้ทำหมันไปพร้อมกับการผ่าตัดครั้งที่2เลย นี่ยังไม่ได้อ้างเรื่องค่าใช้จ่ายเลยนะครับ ส่วนการคลอดทางช่องคลอดนั้น แม้ขณะคลอดจะเจ็บ (บางท่านว่าที่สุดในโลก) ก็จริง แต่พอคลอดออกมาแล้วมันหายเป็นปลิดทิ้ง พร้อมที่จะให้นมบุตรหรือทำอะไรๆ ต่อไปได้เกือบจะทันทีเลยครับ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.