เรื่องเฉพาะสตรี...วัยเจริญพันธุ์ ตอนที่ 1

สารบัญ

วัยเจริญพันธุ์ เริ่มต้นและสิ้นสุดเมื่อใด?

วัยเจริญพันธุ์ในสตรีนั้น หากหมายถึงช่วงอายุที่มีความเป็นไปได้ที่จะตั้งครรภ์ล่ะก็ เริ่มต้นเมื่อมีไข่ตกออกมาจากรังไข่ได้ครับ ซึ่งก็อยู่ในช่วงใกล้เคียงกับวัยสาวนั่นเอง (8-14 ปี) แต่ในบางครั้งก็อาจมีไข่ตก นำมาก่อนการมีประจำเดือนครั้งแรกได้หลายเดือนถึงหลายปี ดังจะเห็นได้จากกรณีที่มีรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่ามีเด็กหญิงอายุเพียง 6 ขวบก็ตั้งครรภ์ได้แล้ว

ในมุมมองจากทางด้านโครงสร้างของร่างกาย ที่พร้อมจะรับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรนั้น อายุที่เหมาะสมก็คือ 18 ปีขึ้นไป แต่ถ้าหากจะให้สมบูรณ์พร้อมทั้งทางด้านจิตใจและกฎหมายร่วมด้วยแล้วละก็ อายุที่เหมาะสมก็คือ 20 ปีบริบูรณ์ (บรรลุนิติภาวะแล้ว) อย่างไรก็ตาม ความพร้อมทางด้านสังคมเศรษฐานะก็กำหนดเอาตามอายุไม่ได้ ต้องพิจารณาดูให้รอบคอบเป็นรายๆไปนะครับ ว่าแต่งงานหรือยัง จบการศึกษาหรือยัง มีรายได้เพียงพอแก่การเลี้ยงดูบุตรหรือยัง เป็นต้น ที่แน่ๆ วัยเจริญพันธุ์จะสิ้นสุดลงเมื่อรังไข่หมดความสามารถในการตกไข่ครับ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วรังไข่ของสตรีไทยจะหมดความสามารถนี้เมื่อถึงอายุเฉลี่ย 48-50 ปี

การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร?

การตั้งครรภ์ หมายถึงการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับตัวอสุจิแล้ว (ปฏิสนธิแล้ว) หรือตัวอ่อนลงไปในเนื้อเยื่อของมารดา ซึ่งโดยปกติก็คือการฝังตัวลงไปในเยื่อบุโพรงมดลูกที่โพรงมดลูก ก็จะเกิดเป็นการตั้งครรภ์ปกติหรือการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกขึ้นมา แต่ถ้าหากการฝังตัวของตัวอ่อนไม่อยู่ในโพรงมดลูก เช่น ไปฝังตัวอยู่ในช่องท้อง ที่ผิวรังไข่ ที่หลอดมดลูก/ท่อนำไข่ เป็นต้น ก็จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์/ท้องนอกมดลูก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดท้องน้อย ตกเลือดในช่องท้อง ช็อก จนอาจถึงแก่ชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้นั้น จะต้องมีการตกไข่และการปฏิสนธิเกิดขึ้นเสียก่อน จึงจะขอกล่าวถึงทั้งสองกระบวนการดังกล่าวโดยสังเขปคือ การตกไข่นั้นจะเกิดขึ้นกลางรอบเดือน หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าวพอดีก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูงสุด เพราะไข่ที่เพิ่งตกออกมานั้นจะได้พบกันกับตัวอสุจิพอดี เกิดการปฏิสนธิขึ้นได้โดยไม่มีใครต้องรอใคร แต่ถ้าหากไม่พอดี ตัวอสุจินั้นก็สามารถรอไข่ตกได้ถึง 3 วัน แต่ไข่รอตัวอสุจิได้เพียง 1วันเท่านั้น ดังนั้นหากไข่ตกวันที่ 14 (เช่น สตรีที่มีระยะห่างระหว่างรอบ 28 วัน) การมีเพศสัมพันธ์ในวันที่ 11-15 ล้วนอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม การมีเพศสัมพันธ์ในวันอื่นๆย่อมไม่น่าจะเกิดการตั้งครรภ์

ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการในการนับวันไข่ตก ของสตรีที่มีระยะห่างระหว่างรอบเดือนเป็นระยะอื่นๆที่ไม่เท่ากับ 28 วันนั้น สามารถศึกษาได้จากบทที่แล้วเรื่อง “วัยสาว” หลักการดังกล่าวข้างต้นนี้ หากเข้าใจแจ่มแจ้ง ก็จะสามารถนำมาใช้เพื่อการคุมกำเนิด หรือการทำให้ตั้งครรภ์ (เกิดการปฏิสนธิ) ในคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรก็ได้นะครับ

การปฏิสนธิตามปกติแล้วจะเกิดขึ้นบริเวณหลอดมดลูก (ท่อนำไข่ก็เรียก) หลังจากนั้นไข่ที่ถูกผสมแล้วก็จะเคลื่อนตัวต่อมาเพื่อฝังตัวลงบนเยื่อบุโพรงมดลูกในโพรงมดลูก ภายในเวลาประมาณ 6 วัน หากมาเร็วหรือช้าเกินไป หรือเยื่อบุโพรงมดลูกยังไม่พร้อม ซึ่งเป็นกลไกในการคุมกำเนิดบางวิธีการ ก็จะไม่เกิดการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นไม่กี่วัน (ช่วงที่ขาดประจำเดือนพอดี) ก็จะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้จากการตรวจปัสสาวะ ซึ่งชุดการตรวจนี้มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด เป็นการทดสอบหาฮอร์โมนชนิดหนึ่งซึ่งรกของตัวอ่อนสร้างขึ้นมา

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.