เรื่องเฉพาะสตรี...วัยทอง ตอนที่ 7

วิธีการให้ฮอร์โมนทดแทนแบบต่างๆ ได้แก่

  1. การให้ฮอร์โมนทดแทนแบบเป็นรอบๆ
  2. การให้ฮอร์โมนทดแทนแบบต่อเนื่อง
  3. การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพียงอย่างเดียว
  4. การให้ฮอร์โมนทางเลือกเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง

วิธีการเลือกใช้ฮอร์โมนทดแทนแบบต่างๆ

  1. การให้ฮอร์โมนทดแทนแบบเป็นรอบๆ มักใช้ในรายที่อยู่ในระยะใกล้จะหรือเพิ่งจะเข้าสู่วัยทอง (วัยหมดประจำเดือน) โดยจะมีการเว้นหรือไม่กินยา 7-10 วัน หลังยาเม็ดสุดท้าย เช่น
    1. คอนจูเกต อีไควน์ เอสโตรเจน/Conjugated equine estrogen (ชื่อการค้าคือ พรีมาริน/Premarin) ขนาดวันละ 0.625 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละ 1 เม็ดก่อนนอนในวันที่ 1-21 ของรอบ ร่วมกับรับประทานยาฮอร์โมนโปรเจสโตเจน เช่น เมดรอกซี่โปรเจสเตโรน อาซีเตรต/Medoxyprogesterone acetate (ชื่อการค้าคือ โปรเวรา/Provera) ขนาดวันละ 5-10 มิลลิกรัม 1 เม็ด หรือ นอร์เอทินโดรน/Norethindrone (พรีโมลูท เอ็น/ Premolut-N) ขนาดวันละ 5 มิลลิกรัม ครึ่งเม็ด ก่อนนอนเช่นกัน ในวันที่ 12-21 ของรอบประจำเดือน
    2. สูตรรวมสำเร็จของแบบเป็นรอบๆ เช่น
      • ไซโคลโปรไกโนวา/Cyclo progynova (ชื่อการค้า) ในแต่ละเม็ดประกอบไปด้วย เอสตราไดออล วาลีเรท/Estradiol valerate (2 มิลลิกรัม) อย่างเดียว 11 เม็ด และ เอสตราไดออล วาลีเรท (2 มิลลิกรัม) ร่วมกับนอร์เจสเตรล/Norgestrel (0.5 มิลลิกรัม) อีก 10 เม็ด จึงรับประทานเพียงวันละ 1 เม็ดก่อนนอน ไปตามลำดับ ในวันที่ 1-21 ของรอบประจำเดือน แล้วเว้นระยะได้ตั้งแต่ 7-10 วันเลยครับ (หากจะให้การมีประจำเดือนในแต่ละเดือนตรงกันตามวันที่ในปฏิทินพอดี ก็เว้น 9-10 วัน)
      • ไคลเมน/Climen (ชื่อการค้า) ในแต่ละเม็ดประกอบไปด้วย เอสตราไดออล วาลีเรท (2มิลลิกรัม) อย่างเดียว 11 เม็ด และ เอสตราไดออล วาลีเรท (2 มิลลิกรัม) ร่วมกับไซโปรเทอโรน อาซีเตท/Cyproterone acetate (1 มิลลิกรัม) อีก 10 เม็ด จึงรับประทานเพียงวันละ 1 เม็ดก่อนนอน ไปตามลำดับ ในวันที่ 1-21 ของรอบ เช่นเดียวกันกับไซโคลโปรไกโนวาได้เลยครับ
  2. การให้ฮอร์โมนทดแทนแบบต่อเนื่อง มักใช้วิธีนี้ในรายที่อยู่ในระยะวัยทองไปนานพอสมควรแล้ว (เช่น มากกว่า 6 เดือนถึง 1 ปี) โดยจะมีการรับประทานยาต่อเนื่องกันไปทุกวันเลย เช่น
    1. พรีมีล/Premelle (ชื่อการค้า) ในแต่ละเม็ดประกอบไปด้วย คอนจูเกต อีไควน์ เอสโตรเจน (0.625 มิลลิกรัม) ร่วมกับ เมดรอกซี่โปรเจสเตอโรน อาซีเตท (2.5 มิลลิกรัม) จำนวน 28 เม็ด
    2. แอกติเวล/Activelle (ชื่อการค้า) ในแต่ละเม็ดประกอบไปด้วย 17-เบต้า-เอสตราไดออล/Beta-estradiol (1มิลลิกรัม) ร่วมกับ นอร์เอทินโดรน/Norethindrone (0.5 มิลลิกรัม) จำนวน 28 เม็ด
    3. ลิเวียล/Livial (ชื่อการค้า) ในแต่ละเม็ดประกอบไปด้วย ทิโบโลน/Tibolone ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของ นอร์เอไทโนเดรล/Norethynodrel (2.5 มิลลิกรัม) จำนวน 28 เม็ด
  3. การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว มักใช้ในรายที่ได้รับการผ่าตัดเอามดลูกออกแล้วเท่านั้น เช่น
    1. คอนจูเกต อีไควน์ เอสโตรเจน (0.625 มิลลิกรัม) รับประทานวันละ 1 เม็ดในวันที่ 1-23 ของรอบ หรือรับประทานต่อเนื่องทุกวันไม่เว้นเลยก็ได้
    2. เอสตราไดออล วาลีเรท (1-2 มิลลิกรัม) (ชื่อการค้าคือ โปรไกโนวา/ Progynova) รับประทานวันละ 1 เม็ด
    3. ไมโครไนซ์ 17-เบต้า-เอสตราไดออล/Micronized 17- beta- estradiol (1-2 มิลลิกรัม) (ชื่อการค้าคือ เอสโตรเฟม/Estrofem) รับประทานวันละ 1 เม็ด และมีชนิดเม็ดสอดใส่ช่องคลอดในขนาด o.025 มิลลิกรัมต่อเม็ดด้วย (ชื่อการค้าคือ วาจิเฟม/ Vagifem)
    4. 17-เบต้า-เอสตราไดออล ได้แก่
      • ไคมารา/Climara (ชื่อการค้า/ Progynova) เป็นแผ่นแปะผิวหนัง ใช้สัปดาห์ละ1 แผ่น จะได้รับยาในขนาด 0.005-0.10 มิลลิกรัมต่อวัน
      • เอสโตรเจล/Estrogel (ชื่อการค้า) เป็นเจลทาผิวหนังวันละครั้ง คิดเป็นขนาดยา 1.5 มิลลิกรัม ต่อเจล 2.5 มิลลิกรัม
  4. การให้ฮอร์โมนทางเลือกเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทอง
    1. ยาในกลุ่มเลือกออกฤทธิ์ที่ตัวรับเอสโตรเจน (Estrogen receptor)ระดับเซลล์ ได้แก่
      • ทามอกซิเฟน/Tamoxifen (อนุพันธ์ของ ไตรฟีนิลเอทิลีน/ Triphenylethylene) (10-20 มิลลิกรัม) รับประทานวันละ 1 เม็ด ต่อเนื่องทุกวัน
      • ราลอกซิฟีน/Raloxifene (อนุพันธ์ของ เบนโซไทโอฟีน/ Benzothiophene) (60 มิลลิกรัม) รับประทานวันละ 1 เม็ด ต่อเนื่องทุกวัน
    2. ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต/Bisphosphonate ได้แก่
      • เอเลนโดรเนต/Alendronate (ชื่อการค้าคือ โฟซาแมกซ์/Fosamax) (5 มิลลิกรัม) รับประทานวันละ 1 เม็ด
      • ริซีโดรเนต/Risedronate (ชื่อการค้าคือ แอกโตเนล/Actonel) (5 มิลลิกรัม) รับประทานวันละ 1 เม็ด

อนึ่ง เพื่อความถูกต้องและปลอดภัยในการใช้ยาต่างๆทุกชนิดที่ได้กล่าวแล้ว ควรเป็นการแนะนำและสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.