เรื่องเฉพาะสตรี...วัยทอง ตอนที่ 3

อาการของวัยทองมีอะไรบ้าง?

เมื่อปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen ฮอร์โมนเพศหญิงชนิดหนึ่ง) ลดลง ผู้หญิงส่วนใหญ่จะได้รับผลสืบเนื่องทำให้เกิดความไม่สบายจากอาการต่างๆ ที่พบได้บ่อยและสังเกตได้ง่ายๆ ได้แก่ การที่ผู้หญิงจะรู้สึกร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากเป็นครั้งคราว บางรายความรู้สึกนี้อาจรบกวนการนอนหลับ บางรายอารมณ์อ่อนไหวได้ง่าย อาการอื่นๆที่พบ อาจเป็นประจำเดือนมาไม่ปกติ ติดเชื้อในช่องคลอด และกระเพาะปัสสาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือการควบคุมการปัสสาวะได้ลำบาก (การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี) หรือปวดแสบปวดร้อนบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งจากผลที่มีต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะและอวัยวะเพศนี่เอง ทำให้ผู้หญิงบางส่วนรู้สึกไม่สบาย หรือรู้สึกเจ็บได้ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง และเยื่อบุทางเดินอาหารเกิดขึ้น

โดยสรุปแล้ว อาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  1. อาการแปรปรวนในระยะแรก ได้แก่
    • อาการร้อนวูบวาบและเหงื่อออกมาก
    • อาการทางระบบอวัยวะสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ
    • อาการทางจิตประสาท
  2. โรคกระดูกพรุน หรือกระดูกบาง
  3. โรคสมองเสื่อม

อนึ่ง 75% ของผู้หญิง จะมีอาการที่สามารถสังเกตได้เมื่อเข้าสู่วัยทอง (วัยหมดประจำเดือน) แต่ลักษณะอาการจะแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่ก็คือ อาการร้อนวูบและอาการอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์ เป็นเพราะว่าเนื้อเยื่อของอวัยวะเหล่านี้บางลง อ่อนแอ และเริ่มมีการฝ่อ

ประจำเดือนมาผิดปกติ

อาการเริ่มต้นของการเข้าสู่วัยทองก็คือ การมีประจำเดือนมาผิดปกติ บางครั้งสั้นลง บางครั้งยาวขึ้น อาจมีมากหรือมีน้อยก็ได้ นั่นคือสัญญานของการเข้าสู่วัยทอง อย่างไรก็ตามควรไปปรึกษาแพทย์เมื่อ

  1. มีเลือดออกบ่อยๆ (มาถี่กว่าทุก21วัน นับจากวันแรกของรอบหนึ่ง ถึงวันแรกของรอบถัดไป)
  2. มีประจำเดือนมาติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 7 วัน หรือมีปริมาณเลือดออกมามากผิดปกติ (มากกว่ารอบละ 80 ลูกบาศก์เซนติเมตร)
  3. ประจำเดือนไม่มาอีกเลยเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว หรือมากกว่านั้น
อาการร้อนวูบ

อาการร้อนวูบวาบ เป็นอาการที่พบได้โดยทั่วไปของวัยทอง และมักเป็นสาเหตุของการไปแสวงหาการรักษาอาการเบื้องต้น อาการร้อนวูบอาจเป็นแล้วขยายไปทั่วร่างกาย โดยเฉพาะหน้าอกและศีรษะ หรือมีเหงื่อออกก่อนแล้วตามมาด้วยความรู้สึกวูบ ในบางรายอาจอาการมีหัวใจเต้นเร็วหรือแรงและเป็นลม อาการจะคงอยู่ได้ในระหว่าง 2-3 นาทีไปจนถึงหลายนาที โดยในแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ส่วนมากจะพบอยู่ในช่วง 2 ปีแรกหลังจากหมดประจำเดือน แต่บางรายอาจเป็นถึง 10 หรือ 20 แม้แต่ 40 ปีถึงนานกว่านั้นหลังจากการหมดประจำเดือนก็ได้

อาการนั้น มักมีผลกระทบต่อชีวิตการทำงานและรบกวนการนอนหลับในตอนกลางคืน มีรายงานว่าในสตรีบางรายมีเหงื่อออกมากระหว่างนอนหลับ ทำให้ผ้าปูที่นอนเปียกชื้นจนถึงเปียกโชกได้เลยทีเดียว

ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการร้อนวูบ ได้แก่

  1. อากาศร้อน
  2. พื้นที่แออัด
  3. เครื่องดื่มที่มี กาเฟอีน และแอลกอฮอล์
  4. อาหารเผ็ดจัด รสจัด
การฝ่อของอวัยวะสืบพันธุ์

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นตัวแปรสำคัญในการเสริมสร้างเยื่อบุโพรงมดลูก เยื่อบุอวัยวะสืบพันธุ์ ช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หลังวัยหมดประจำเดือน อวัยวะสืบพันธุ์จึงอ่อนแอและฝ่อลง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเหล่านี้ จึงทำให้มีการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ การติดเชื้อ และการเจ็บ/ปวดในระบบทางเดินปัสสาวะ

การฝ่อของเยื่อบุอวัยวะเพศ นำมาซึ่งการรู้สึกเจ็บระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด และการแห้ง (มีน้ำหล่อลื่นน้อย) ของอวัยวะเพศซึ่งเกิดขึ้นร่วมกันก็อาจทำให้เกิดอาการคัน สตรีบางรายมีอาการแห้งและฝ่อเหล่านี้อย่างรุนแรงหลังจากหมดประจำเดือน สตรีประมาณครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อยที่รู้สึกได้ถึงปัญหานี้ และหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้อวัยวะเพศเพิ่มปริมาณน้ำหล่อลื่นนั้นก็คือ การยังคงมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดต่อไปตามปกติ

อารมณ์และความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลงไป

สมองสนองตอบต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนเช่นกัน เอสโตรเจนมีความสำคัญต่อการทำงานของเซลล์สมองและความทรงจำ จากการศึกษาต่างๆพบว่า เอสโตรเจนช่วยซ่อมแซมและส่งเสริมการทำงานของสมอง หรือแม้แต่การช่วยเสริมสร้างความจำ

ความเครียด อาจเกิดขึ้นหลังการหมดประจำเดือน เหตุแห่งความเครียดนั้นยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากเหตุใดที่เกี่ยวเนื่องกับวัยทอง และอาจเป็นเพราะปริมาณที่ลดต่ำลงของฮอร์โมน ทำให้อารมณ์และความต้องการทางเพศของผู้หญิงเปลี่ยนไปอย่างมาก ในระหว่างอายุ 40-50 ปี

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.