เรื่องเฉพาะสตรี...วัยทอง ตอนที่ 2

ระบบการทำงานของฮอร์โมนจากรังไข่ เป็นอย่างไร?

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือฮอร์โมนเพศหญิง เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้หญิงมีรูปร่างอย่างผู้หญิง หรือเตรียมพร้อมเพื่อประโยชน์แห่งการตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูบุตร กล่าวคือ มันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างเต้านม กระดูกเชิงกราน อวัยวะสืบพันธุ์สตรีทั้งภายนอกและภายใน (อ่านเพิ่มเติมใน กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะเพศภายในสตรี และ กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะเพศภายนอกสตรี) รวมไปถึงอวัยวะอื่นๆของผู้หญิง ก็ล้วนพบว่าตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนทั้งสิ้น เพียงแต่น้อยหรือมากเท่านั้นเอง

เมื่อเอสโตรเจนทำงานร่วมกับโปรเจสเตโรน (Progesterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงอีกชนิดจากรังไข่เองในช่วงหลังไข่ตก (ช่วงครึ่งหลังของรอบเดือน) ฮอร์โมนทั้งสอง จะทำการเปลี่ยนแปลงและเตรียมพร้อมมดลูกเพื่อการตั้งครรภ์ในทุกๆรอบประจำเดือน และประมาณถึง 90% ของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายผู้หญิงนี้ ถูกผลิตออกมาจากรังไข่ ส่วนที่เหลือได้มาจากต่อมหมวกไต ไตและตับ เมื่อรังไข่หยุดทำงานก็จะทำให้ปริมาณของฮอร์โมนทั้งสองลดลงเรื่อยๆ (หลังการหมดประจำเดือน) ส่วนสตรีที่อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน จะมีผลกระทบน้อยกว่า เพราะว่าเซลล์ไขมันที่มีมากกว่ายังสามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้เล็กน้อย

ประโยชน์ที่สำคัญรองลงมาก็คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะช่วยสร้างเสริมกระดูกและช่วยให้กระดูกคงสภาพความแข็งแรง ช่วยปรับเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดี (ไลโปโปรตีน/Lipoprotein ความหนาแน่นสูง) และปรับลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ) และมีผลกระทบในทางที่ดีต่อความต้องการทางเพศ

ฮอร์โมนโปรเจสเตโรนเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญรองลงมา ส่วนใหญ่ถูกผลิตจากรังไข่ บางส่วนถูกผลิตออกมาจากต่อมหมวกไต โปรเจสเตโรนมีหน้าที่ช่วยเสริมสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกในการเตรียมพร้อมรองรับไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว เพื่อพัฒนาเป็นตัวอ่อนของทารก ช่วยให้เต้านมผลิตน้ำนม และปรับสภาพร่างกายทั่วไปเพื่อการตั้งครรภ์

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.