วันแห่งการนอนหลับโลก หายใจสะดวกหลับสบาย

วันที่ 16 มีนาคม เป็น “วันแห่งการนอนหลับโลก” (World Sleep Day) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยสมาคมเวชศาตร์การนอนหลับแห่งโลก (World Association of Sleep Medicine: WASM) เพื่อฉลองและเชิดชูผลงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ในด้านอายุรศาสตร์ เภสัชภัณฑ์ การรักษา การศึกษา และการขับเคลื่อนทางสังคมที่ส่งเสริมการนอนหลับ โดย WASM มีเป้าหมายที่จะช่วยลดภาระการนอนไม่หลับที่เป็นปัญหาสังคม ช่วยป้องกันการนอนไม่หลับ และการจัดการเมื่อเกิดปัญหานอนไม่หลับ

ปรกติจะพบการนอนกรนในผู้ที่น้ำหนักตัว 30 กิโลกรัมขึ้นไป ความผิดปรกติในการหายใจระหว่างหลับที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ภาวะหยุดหายใจแบบอุดกั้น (Obstructive sleep apnea: OSA) ที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อคอส่วนบนหย่อน คลายตัวมากเกินไปขณะนอนหลับ จนขัดขวางทางเดินลมหายใจ ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดตกลง อาจเป็นได้ตั้งแต่ 10 วินาทีจนถึง 1 นาทีหรือนานกว่านั้น เมื่อสมองรับรู้การขาดออกซิเจนแล้ว ผู้นอนหลับอยู่ก็จะตื่นขึ้นเพื่อให้คอเปิดและหายใจ แล้วก็หยุดหายใจเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

เมื่อตื่นนอนตอนเช้า คนที่นอนกรนมักจะจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ในความเป็นจริงเขาถูกขัดจังหวะการพักผ่อนนอนหลับอย่างรุนแรง ผู้ที่หยุดหายใจ นอนกรนตั้งแต่ขั้นปานกลางถึงขั้นรุนแรงมักจะตื่นเป็นร้อยครั้งทุกคืนโดยไม่รู้ตัว มีข้อมูลอย่างเป็นทางการว่า ร้อยละ 4 และร้อยละ 2 ของผู้ชายและผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา มีอาการ OSA และชาวเอเชียมีปัญหาการนอนกรน (Snore) และหายใจผิดปรกติมากกว่าคนยุโรป กล่าวคือผู้ชายร้อยละ 5–8.6 และผู้หญิงร้อยละ 2–5.7

แต่ก็มีงานวิจัยที่แสดงว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ใช้ชีวิตอยู่กับ OSA โดยไม่ตระหนักถึงภัยนี้ มีการคาดการณ์ว่า 24% ของผู้ชายและ 9% ของผู้หญิง หรือ 14% ของผู้ใหญ่มีความผิดปรกตินี้ Edward Grandi ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมภาวะหยุดหายใจแห่งอเมริกา (American Sleep Apnea Association) กล่าวว่า OSA เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ที่พบได้ทั่วไปแต่มักไม่ได้รับการวินิจฉัย และการที่ไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจลุกลามเป็นปัญหาร้ายแรงได้

สัญญาณและอาการ OSA รวมถึงการนอนกรนเสียงดังอย่างสม่ำเสมอ และสำลักหรืออ้าปากหายใจหอบ การง่วงหงาวหาวนอนอ่อนเพลียระหว่างวัน และการขาดสมาธิ OSA นี้ไม่เพียงทำให้เกิดความอ่อนเพลียเรื้อรังที่น่ารำคาญเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้อีกหลายประการ เช่น หากปล่อยไว้ไม่ดูแล จะเพิ่มความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูง 2.89 เท่าของคนธรรมดาที่ไม่มีภาวะ OSA นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด มีการเต้นของหัวใจผิดปรกติ (Heart rhythm disorders) หลอดเลือดสมองอุดตัน เป็นโรคซึมเศร้า และกรดไหลย้อน

OSA อาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart attack) โรคลมชัก (Epilepsy) และเบาหวาน (Diabetes) รวมไปถึงปัญหาการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพตามปรกติของมนุษย์เช่น ขาดสมาธิในระหว่างกลางวันและประสิทธิภาพในการทำงานหรือการศึกษาเล่าเรียนลดลงเนื่องจากขาดการนอนหลับที่เพียงพอ อาการที่พบได้ทั่วไปคือ ตื่นนอนขึ้นมาปวดหัวบ่อย มักง่วงนอนในเวลากลางวันทั้งๆ ที่นอนกลางคืนแล้วหลายชั่วโมง หรือพอตกบ่ายร่างกายหมดสมรรถภาพไป เช่น รถติดไฟแดงก็ฟุบหลับกับพวงมาลัยหรือขับรถอยู่ก็หลับใน เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุในการขับขี่ยานพาหนะ บางคนเกิดอาการหลงลืม นึกอะไรไม่ออก

การแก้ปัญหา OSA ที่ได้ผลดีที่สุดคือ CPAP (Continuous positive airway pressure) ซึ่งเป็นเครื่องเพิ่มแรงดันหายใจผ่านรูจมูก โดยมีหน้ากากครอบจมูก เวลานอนหลับ ช่วยป้องกันอาการกล้ามเนื้อบริเวณคอหย่อนลงมาปิดทางเดินหายใจขณะหลับอยู่

แหล่งข้อมูล:

  1. World Sleep Day; breathe easily, sleep well. http://www.worldsleepday.org/ [2012, Mar 20].
  2. Sleep Apnea. http://www.worldsleepday.org/sleep-apnea/ [2012, Mar 20].
  3. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) http://www.oknation.net/blog/print.php?id=141283 [2012, Mar 20].
  4. 16 มีนา World Sleep Day วันแห่งการนอนหลับโลก รายการสโมสรสุขภาพ ช่อง 9 อสมท http://tee-pak.net/doolakorn/ดูรายการ-สโมสรสุขภาพ-นอนกรน-หย่อนสมรรถภาพทางเพศ-ย้อนหลัง-วันที่-16-มีนาคม-2555/ [2012, Mar 20].