วันอัมพาตโลก 29 ตุลาคม ของทุกปี

วันอัมพาตโลก

ทุก 4 นาที มีผู้ป่วยโรคอัมพาต รายใหม่ 1 คน และทุกๆ 10 นาที ผู้ป่วยอัมพาตเสียชีวิต 1 คน โรคอัมพาตเป็นมัจจุราชคร่าชีวิตคนไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ในปัจจุบันการรักษาโรคอัมพาตจะได้ผลดี โดยเฉพาะโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน เนื่องจากมีการรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ แต่ในปัจจุบันคนไทยได้รับการรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดเพียงร้อยละ 3.8 เหตุเพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าโรคอัมพาตมีอาการอย่างไร และต้องรีบมารับการรักษาให้เร็วที่สุด อย่างช้าไม่เกิน 270 นาที หรือ 4 ชั่วโมงครึ่ง

โรคหลอดเลือดสมองหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า โรคอัมพาต คือ โรคของหลอดเลือดสมองมีความผิดปกติ ส่งผลให้เนื้อสมองสูญเสียหน้าที่อย่างเฉียบพลัน โดยมีสาเหตุจากการอุดตัน ตีบตัน หรือแตกของหลอดเลือดสมอง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และผู้มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ อ้วน สูบบุหรี่ และไม่ออกกำลังกาย ปัจจุบันคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป พบผู้ที่เป็นโรคอัมพาต 1,880 คนต่อประชากร 100,000 คน

โรคอัมพาตแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ชนิดสมองขาดเลือดและเลือดออกในเนื้อสมอง โดยพบชนิดสมองขาดเลือดประมาณร้อยละ 70 ที่เหลือร้อยละ 30 เป็นชนิดเลือดออกในเนื้อสมอง ผู้ป่วยโรคอัมพาตนั้นเมื่อเป็นแล้วมีโอกาสหายเป็นปกติน้อยมาก ส่งผลให้เกิดความพิการ ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ครอบครัวต้องให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

การรักษาที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคอัมพาต โดยการรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงข้างต้นให้ดี แต่ถ้าเกิดโรคอัมพาตแล้ว การรักษาดีที่สุด คือ การรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยใช้บริการ “ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง หรือ stroke fast track” ผู้ที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ได้แก่

  1. ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท
  2. แขน ขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง
  3. พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก พูดลำบาก

โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน และทราบเวลาที่มีอาการอย่างชัดเจน ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หรือโทร 1669 เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย

เมื่อผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาล ทีมแพทย์และพยาบาลจะให้การรักษาอย่างทันที โดยการสอบถามข้อมูลการเจ็บป่วยและการตรวจประเมินความผิดปกติเบื้องต้นว่า เข้าได้กับโรคอัมพาตหรือไม่ ร่วมกับการตรวจเลือด และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทันที เพื่อให้การยืนยันการวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคอัมพาตหรือไม่ และเป็นโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในเนื้อสมอง ถ้าผลการตรวจเข้าได้กับภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลัน มีความรุนแรงของโรคไม่มากเกินไป และไม่มีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับการรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ซึ่งการรักษาดังกล่าวนั้นเป็นการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวมีโอกาสหายเป็นปกติที่ 3 เดือนภายหลังการรักษาสูงถึงร้อยละ 50

การรักษาผู้ป่วยโรคอัมพาตในแต่ละรายนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงประมาณ 50,000-70,000 บาท ซึ่งคนไทยทุกคนจะ “ไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว” เพราะรัฐบาลได้ออกค่าใช้จ่ายให้คนไทยทุกคนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ในปัจจุบันนั้นทุกโรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศไทยสามารถให้การรักษาด้วยระบบบริการ “ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง” รวมทั้งโรงพยาบาลชุมชนที่มีศักยภาพอีกเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีคนไทยเข้าถึงระบบบริการดังกล่าวน้อยมาก เพราะคนไทยส่วนมากไม่ทราบว่าโรคอัมพาตมีอาการอะไร และไม่ทราบว่าเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวต้องรีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด อย่างช้าไม่เกิน 4 ชั่วโมงครึ่ง หรือ 270 นาที ยิ่งมารับการรักษาเร็วที่สุดเท่าไหร่ ยิ่งได้ผลดีในการรักษามากเท่านั้น

“ทุกนาที คือ ชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต”