วัคซีน (Vaccine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

วัคซีน (vaccine) เป็นผลงานทางสติปัญญาที่คิดค้นขึ้นมานานเกือบ 300 ปี เพื่อใช้ต่อต้านโรคต่างๆจากเชื้อแบคทีเรีย และ ไวรัส (โรคติดเชื้อไวรัส) โดยใช้หลักการให้วัคซีนเป็นตัวกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายมนุษย์ เมื่อมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและตรงกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ถูกกระตุ้นไว้ ร่างกายจะสามารถต่อต้านและไม่เจ็บป่วยจากเชื้อโรคนั้น หรืออาจมีอาการของโรค ได้แต่ก็ไม่รุนแรงมาก

วัคซีนถูกจำแนกและแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามวิธีการผลิต เช่น

  • ชนิดเชื้อตาย: ใช้ตัวของเชื้อโรคที่ทำให้ตายแล้วมาเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนโปลิโอชนิดฉีดหรือ เรียกอีกชื่อสั้นๆว่า ไอพีวี (IPV), วัคซีนไวรัสตับอักเสบ-เอ, วัคซีนพิษสุนัขบ้า
  • ชนิดเชื้อเป็น: โดยนำเอาตัวของเชื้อโรคมาทำให้หมดกำลังหรืออ่อนแรงลงจนไม่สามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ได้ จากนั้นจึงนำมากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนไข้เหลือง, วัคซีนโรคหัด, วัคซีนคางทูม, วัคซีนหัดเยอรมัน ซึ่งเรียกรวมว่า วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์( โรคหัด/Measles, คางทูม/Mumps, และ หัดเยอรมัน/Rubella) และวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG/ วัคซีนบีซีจี)
  • วัคซีนที่ผลิตจากพิษของเชื้อโรคโดยนำพิษมาทำให้หมดฤทธิ์หรือหมดความรุนแรง เช่น วัคซีนบาดทะยัก , วัคซีนคอตีบ
  • ใช้โปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของเชื้อโรคมากระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มนุษย์ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนมะเร็งปากมดลูก
  • การนำเอาสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen/แอนติเจน คือตัวที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค) มาเกาะกับโปรตีนของเชื้อโรค เช่น วัคซีนฮิบ (Heamophilus Influenzae Type B vaccine)
  • วัคซีนที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อโรค (DNA /ดีเอ็นเอ) เช่น วัคซีนโรคเอดส์ หรือ วัณโรค (*กำลังอยู่ในการศึกษาทั้งสองโรค)

อนึ่ง การได้รับวัคซีน ไม่ได้หมายความว่าจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคของวัคซีนนั้นๆได้ทุกคน ทั้งนี้ขึ้นกับร่างกายของผู้รับวัคซีน ,ความแข็งแรง, ระบบภูมิคุ้มกันเดิม, โรคประจำตัว, นอกจากนี้ยังขึ้นกับ คุณภาพของวัคซีน, ระยะเวลากระตุ้นด้วยวัคซีน ,การเก็บรักษาวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเก็บในตู้เย็นที่ควบคุมอุณหภูมิ 2 - 8 ๐C (Celsius)เพื่อถนอมรักษาและมีอายุการใช้งานได้นาน

การใช้วัคซีนในปัจจุบัน แพร่หลายไปในทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเป็นทารกแรกเกิดไปจนกระทั่งคนชรา ถือได้ว่าวัคซีนเป็นของที่มีประโยชน์ช่วยป้องกันโรคและทำให้ชีวิตมนุษย์ยืนยาวขึ้น

วัคซีนป้องกันโรคได้อย่างไร?

วัคซีน

นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าร่างกายมนุษย์มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ ระบบภูมิคุ้มกัน อยู่ในตัวเอง ภูมิคุ้มกันต้านทานของมนุษย์นอกจากจะทำ หน้าที่ป้องกันเชื้อโรคต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายแล้ว ยังสามารถจดจำเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้และจะทำการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานหรือที่เรียกกันว่า สารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี้/Antibodies) หากร่างกายมีสารภูมิต้านทานที่จำเพาะต่อเชื้อโรค เมื่อได้รับเชื้อโรคตัวเดิมในครั้งต่อไป ร่างกายจะต่อต้านและกำจัดเชื้อโรคเหล่านั้นทิ้ง วัคซีนจึงเปรียบเสมือนครูฝึกที่ทำให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค และสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานขึ้นมาก่อนที่จะเจ็บป่วยด้วยเชื้อโรคนั้นๆ

ใครบ้างที่ควรได้รับวัคซีน?

วัตถุประสงค์ที่ผลิตวัคซีนออกมาใช้ทั่วโลกเพื่อตอบสนองการมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้มาก มายหลายชนิด ด้วยพลังสติปัญญาของนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้มนุษย์มีทางเลือกการใช้วัคซีนตั้ง แต่ก่อนการตั้งครรภ์ไปจนกระทั่งวัยชรา การเลือกใช้วัคซีนชนิดใด เหมาะกับร่างกายเราหรือไม่ ควรต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ ด้วยสภาพร่างกาย, อายุ, เพศ, ยาที่ได้รับในขณะนั้น, ต่างๆเหล่านี้มีผลต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานของวัคซีนทั้งสิ้น

ผลอันไม่พึงประสงค์จากวัคซีนมีอะไรบ้าง?

อาจแบ่งผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ การใช้วัคซีน (ผลข้างเคียง) จากการใช้วัคซีนได้ 2 ประเภทคือ

  • ประเภทแรก: เป็นการแสดงอาการอย่างเฉียบพลันทันทีหลังจากได้รับวัคซีน เช่น มีอาการไข้, เจ็บ บวม แดง บริเวณที่ฉีด, ผื่นคัน, หูอื้อ, ชัก, เป็นอัมพาตจากเกิดภาวะแทรกซ้อนเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง และส่งผลให้เกิดการพิการชนิดชั่วคราวหรือพิการถาวรไปเลย, หรือบางคนอาจแพ้รุนแรง เกิดความดันโลหิตต่ำทันที อาจตายได้เมื่อให้การรักษาไม่ทัน
  • ประเภทที่สอง: เป็นชนิดที่ใช้ระยะเวลานาน ผลของวัคซีนค่อยๆก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย เช่น เกิดโรคลมชัก, การเรียนรู้และพัฒนาการทางสมองผิดปกติ, ผลอันไม่พึงประสงค์แบบที่สองนี้จะสังเกตได้ยาก ต้องได้รับการวิเคราะห์ การสืบค้น ประวัติทางการแพทย์ ของผู้ป่วยอย่างละเอียด

ทั้งนี้ ผลอันไม่พึงประสงค์จากการใช้วัคซีนข้างต้นอาจมีสาเหตุจากหลายอย่างอาทิเช่น พิษหรือส่วนประกอบจากเชื้อโรคที่นำ มาผลิตวัคซีน หรือสารที่ใช้เตรียมในกระบวนการผลิตวัคซีนเช่น สารปรอท สารฟอร์มัลดิไฮด์ สารอลูมิเนียม ซึ่งใช้เป็นส่วนผสม ของวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ผลไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นน้อยมาก จนไม่เป็นอุปสรรคของการใช้วัคซีน ยกเว้นในคนเป็นโรคภูมิแพ้ หรือเคยแพ้วัคซีนนั้นๆมาก่อน ซึ่งควรต้องแจ้งแพทย์/พยาบาลให้ทราบก่อนได้รับวัคซีนทุกชนิดเสมอ

วัคซีนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

เพื่อความเหมาะสมและสะดวกต่อการใช้งาน วัคซีนได้พัฒนาและมีรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นสารละลายที่หยอดทางปาก, ยาพ่นจมูก, ยาฉีดใต้ผิวหนัง, ยาฉีดเข้ากล้าม, หรือแผ่นติดที่ผิวหนัง

ตัวอย่างวัคซีนที่ระบุในตารางด้านล่าง ถูกนำมาเสนอเพื่อเป็นความรู้ทั่วไปให้กับประชาชน อาจใช้เป็นแนวทางและเสริมความเข้าใจในการใช้ ควรต้องอาศัยคำแนะนำจากแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและแนะนำการใช้ได้อย่างถูกต้องปลอดภัย

ตารางตัวอย่างวัคซีนที่มีใช้ในเด็ก

บรรณานุกรม

  1. ชิษณุ พันธุ์เจริญ สุชีรา ฉัตรเพริดพราย ธันยวีร์ ภูธนกิจ จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ คู่มือ Vaccine 2010 และประเด็นในการสื่อสาร, ธนาเพรส.
  2. https://www.amazon.com/Vaccine-Guide-Benefits-Children-Adults/dp/1556434235 [2020,Nov14]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Vaccine [2020,Nov14]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Cancer_vaccine [2020,Nov14]