วัคซีนรักษามะเร็งสมอง (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

การตรวจและการวินิจฉัยส่วนใหญ่ใช้การตรวจซีทีสแกน (CT scan = Computed tomography scan) การตรวจเลือด การตรวจเกลือแร่ของเลือด (Electrolytes) การตรวจการทำงานของตับ การตรวจการแข็งตัวของเลือด (Blood coagulation) นอกจากนี้อาจใช้การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI = Magnetic Resonance Imaging) เพราะเอ็มอาร์ไอมีความไวต่อการตรวจดูตำแหน่งและการเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้องอกได้ดี สำหรับการเอ็กซเรย์กะโหลกศีรษะ (Skull X-rays) นั้นไม่ค่อยนิยมใช้แล้วในปัจจุบัน

หลังจากที่ทราบว่ามีก้อนเนื้องอกในสมองแล้ว วิธีที่จะวิเคราะห์ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ชนิดไหน ก็คือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (Biopsy) ด้วยการผ่าตัดเปิดกะโหลก หรือบางกรณีอาจไม่ต้องเปิดกะโหลกแต่ใช้เข็มเจาะก็ได้ (Stereotaxis / stereotactic biopsy) ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่พบเนื้องอก

การรักษาเนื้องอกในสมองเป็นเรื่องเฉพาะคน ขึ้นอยู่กับอายุ สภาพร่างกาย ขนาด ตำแหน่ง และชนิดของก้อนเนื้อ ส่วนการรักษามะเร็งสมองนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน การวางแผนการรักษาต้องอาศัยแพทย์ที่เกี่ยวข้องหลายคน

โดยทีมแพทย์รักษาหลักๆ จะประกอบด้วย ศัลยแพทย์ทางประสาท (Neurosurgeons) แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง( Medical Oncologists) แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (Radiation oncologists) และอื่นๆ

สำหรับการรักษาหลักๆ ทั่วไป จะประกอบด้วย การผ่าตัด (Surgery) รังสีรักษา (Radiation therapy) เคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมกัน

การผ่าตัด เป็นการพยายามที่จะตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไปจากบริเวณเนื้อเยื่อสมองปกติ ส่วนการใช้รังสีรักษา จะเป็นการพยายามทำลายก้อนเนื้องอกด้วยการใช้รังสีพลังงานสูงยิงไปยังจุดที่มีก้อนเนื้องอกเพื่อทำลายหรือไม่ให้มีการ แบ่งตัวอีก สำหรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นการพยายามทำลายก้อนเนื้องอกด้วยยาเคมี โดยตัวยาแต่ละตัวจะใช้ทำลายเซลล์มะเร็งสมองแต่ละชนิดที่แตกต่างกันไป

ส่วนการรักษาด้วยวิธีอื่นนั้น อาจใช้วิธีรักษาด้วยความร้อน (Hyperthermia) การรักษาด้วยการก่อภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) ซึ่งเป็นการใช้ภูมิคุ้มกันฆ่าเซลล์มะเร็ง หรือการใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบและลดการบวมของสมอง

อัตราการมีชีวิตอยู่รอดหลังการรักษามะเร็งสมองนั้นขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ตำแหน่งที่เกิดโรค อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย การมีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 5 ปี ถือเป็นระยะเวลาที่นาน ซึ่งมีอัตราตั้งแต่น้อยกว่าร้อยละ 10 จนถึงมากกว่าร้อยละ 32 อย่างไรก็ดีประมาณร้อยละ 75 ของเด็กที่เป็นเนื้องอกสมอง มักจะมีชีวิตได้นานกว่า 5 ปี ส่วนผู้ใหญ่มักจะมีระยะเวลาที่สั้นกว่า

การรักษา เป็นการยืดอายุผู้ป่วยและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต (Quality of life) ผู้ป่วยไปได้ระยะหนึ่ง ทั้งนี้หากไม่มีการรักษาเลย มะเร็งสมองจะทำให้เสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Brain Cancer. http://www.webmd.com/cancer/brain-cancer/brain-cancer [2014, January 30].
  2. What is brain cancer? http://www.medicinenet.com/brain_cancer/page2.htm [2014, January 30].