วัคซีนรักษามะเร็งสมอง (ตอนที่ 2)

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute = NCI) ของสหรัฐอเมริกาได้ทำการแบ่งระดับของก้อนเนื้องอกออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

  • ระดับ 1 - เซลล์เนื้อเยื่อไม่มีอันตราย มีลักษณะเหมือนเซลล์สมองปกติ และโตช้า
  • ระดับ 2 - เซลล์เนื้อเยื่อมีอันตราย เริ่มมีลักษณะแตกต่างจากเซลล์ปกติ
  • ระดับ 3 - เซลล์เนื้อเยื่อจะมีลักษณะแตกต่างจากเซลล์สมองปกติ มีการเติบโตและมีหน้าตาผิดปกติเป็นแบบอนาพลาสติค (Anaplastic)
  • ระดับ 4 - เซลล์เนื้อเยื่อจะมีหน้าตาผิดปกติมากที่สุดและมีแนวโน้มที่จะโตเร็ว

ทั้งนี้จากสถิติพบว่า คนอเมริกันทุก 5,000 คน จะมีคนเป็นเนื้องอกในสมองจำนวน 1 คน

แม้ปัจจุบันจะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดเนื้องอกในสมองที่แท้จริง แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิด ได้แก่ มลพิษต่างๆ การฉายรังสีที่บริเวณศีรษะ พันธุกรรม การสูบบุหรี่ การติดเชื้อเอดส์ (HIV infection)

ส่วนการเป็นห่วงว่าเนื้องอก/มะเร็งสมองอาจเกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือนั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนทีเดียว อย่างไรก็ดีสถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างชาติ (International Agency for Research on Cancer = IARC) ของสหรัฐอเมริกาได้แนะนำว่า การใช้โทรศัพท์มือถือมากก็อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดเนื้องอกสมอง (Gliomas) ได้ แต่ไม่ได้รายงานว่าเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งสมองหรือไม่

ไม่ใช่เนื้องอกในสมองทุกชนิดที่ก่อให้เกิดอาการ แต่อาการอาจเกิดจากการเจ็บป่วยหลายอย่าง วิธีที่จะทราบถึงสาเหตุได้จริงนั้นจะต้องทำการวิเคราะห์ทดสอบ อย่างไรก็ดีอาการที่เกิดขึ้นมักเกิดจากการที่เนื้องอกไปกดทับบางส่วนของสมองทำให้มีการทำงานที่ผิดปกติ หรือการที่สมองบวมเพราะเนื้องอกหรือบริเวณใกล้เคียงมีการอักเสบ

อาการที่พบโดยส่วนใหญ่ ได้แก่

  • อาการปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • เชื่องช้า ซุ่มซ่าม (Clumsiness)
  • เดินลำบาก
  • ชักกระตุก (Seizures)

อาการที่พบบ้าง ได้แก่

  • สภาพจิตเปลี่ยนไป เช่น มีการเปลี่ยนแปลงในสมาธิ ความจำ ความสนใจ หรือความรู้ตัว
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • มีความผิดปกติในการมองเห็น
  • พูดลำบาก
  • มีการเปลี่ยนแปลงในความสามารถทางสติปัญญาหรืออารมณ์ทีละน้อย

แหล่งข้อมูล:

  1. Brain Cancer. http://www.webmd.com/cancer/brain-cancer/brain-cancer [2014, January 29].
  2. What is brain cancer? http://www.medicinenet.com/brain_cancer/page2.htm [2014, January 29].