วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ (Smallpox Vaccine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มวาริโอลา (Variola) ที่มีความรุนแรงมาก การแพร่กระจายของเชื้อเกิดขึ้นได้จากการสูดรับเชื้อเข้าไป เชื้อจะเข้าไปฟักตัวรวมอยู่กับเซลล์ ช่วงลำคอ ระบบทางเดินหายใจ และ/หรือต่อมน้ำเหลือง และจะค่อยๆแพร่กระจายสู่กระแสเลือด โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 12 วัน

อาการเริ่มแรกเมื่อได้รับเชื้อในกลุ่มวาริโอลา จะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย หลังจากนั้นจะเกิดจุดเล็กๆสีแดงๆขึ้นที่เยื่อเมือกของ ช่องปาก ลิ้น เพดานปาก ทีเรียกว่า “Enanthem” ก่อนที่อุณหภูมิของร่างกายจะกลับคืนเป็นปกติ

อาการที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสดังกล่าว เกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดเล็กๆที่ไปหล่อเลี้ยงในช่องปาก เชื้อนี้ยังก่อให้เกิดภาวะเลือดออก (Hemorrhagic) ตั้งแต่บริเวณ ผิวหนัง เยื่อเมือก ตลอดจนระบบทางเดินอาหาร การที่เลือดออกตามผิวหนังนั้น จะเกิดขึ้นบริเวณใต้ผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นจุดดำๆ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดเลือดออกที่ ม้าม ตับ กล้ามเนื้อ อัณฑะ รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ ได้ด้วย ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะพบว่ามีระดับของเม็ดเลือดต่ำในช่วงหลังของการเกิดโรค

โรคฝีดาษ ยังทำให้เกิดผื่นกระจายขึ้นตามผิวหนัง ลักษณะเหมือนเป็นตุ่มน้ำพอง อาจเกิดรอยแผลเป็นบริเวณผิวหนังตามจุดผื่นต่างๆเหล่านั้น อาการอาจมีความรุนแรงมากจนทำให้เกิดการตาบอดเมื่อเชื้อไวรัสกระจายเข้าตา เกิดการบิดงอของแขนและขาเนื่องจากกระดูกอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้

เอ็ดวาร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้คนที่ทำงานในฟาร์มวัวที่เกิดโรคฝีดาษวัว (Cowpox) แล้วนั้น จะไม่เกิดโรคฝีดาษ (Smallpox) ในปี ค.ศ. 1796(พ.ศ. 2339)เขาจึงทำการทดลองปลูกหนองฝีดาษจากคนที่ติดเชื้อฝีดาษวัวให้แก่เด็กชายวัย 8 ขวบ และพบว่า เด็กชายผู้นั้นเกิดไข้เล็กน้อยหลังการปลูกถ่ายฝีดาษ และหายเป็นปกติดีในเวลาไม่กี่วันหลังจากนั้น และยังพบว่าเด็กชายนั้นมีภูมิคุ้มกันต่อโรคฝีดาษ (Smallpox) ได้ด้วย

ความสำเร็จในฤษฎีของเอ็ดวาร์ด ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกในการใช้เชื้อโรคที่อ่อนแรงกว่า ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายต่อเชื้อโรคชนิดนั้นได้ ซึ่งเป็นแนวคิดของการพัฒนาวัคซีนฝีดาษ และวัคซีนต่างๆในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นการให้กำเนิดคำศัพท์ “วัคซีน(Vaccine, มาจากรากศัพท์ภาษาลาติน จากคำว่า Vacca ที่แปลว่า วัว) อีกด้วย และ “วัคซีนฝีดาษ หรือ วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ (Smallpox vaccine)” นี้ก็ได้มาจากฝีดาษวัว(Variolae vaccinae)

โรคฝีดาษ เกิดการแพร่ระบาดอย่างมากในอดีต จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1967 องค์การอนามัยโลก ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำจัดเชื้อฝีดาษให้หมดไป โดยผู้ป่วยรายสุดท้ายในทวีปอเมริกาพบในปี ค.ศ. 1971(พ.ศ.2514) และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศอินโดนีเซีย) ในปี ค.ศ. 1972(พ.ศ.2515) ปัจจุบันเรียกได้ว่า ฝีดาษเป็นโรคติดเชื้อ ชนิดเดียวที่สามารถถูกกำจัดให้หมดไปได้จากมนุษย์ แม้ว่ายังมีการเก็บตัวอย่างของเชื้อฝีดาษไว้เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยก็ตาม

 

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษมีข้อบ่งใช้ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ วิธีการบริหารและขนาดการบริหารวัคซีนอย่างไร?

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษมีข้อบ่งใช้ในการป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษ ในสมัยที่มีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษนั้น วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนที่แนะนำให้มีการให้แก่เด็กทุกคนที่รวมเด็กเล็กด้วย ต่อมาเมื่อโรคระบาดฝีดาษนี้ได้หมดไปแล้วจากโลก จึงไม่ได้เป็นวัคซีนที่แนะนำสำหรับเด็กทุกคน แต่แนะนำให้เฉพาะกับบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงเซลล์เชื้อไวรัสฝีดาษ หรือเชื้ออื่นทีเกี่ยวข้องโดยตรงที่อาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานติดเชื้อนี้ได้ที่รวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ที่อาจเป็นโรคฝีดาษ เช่น ฝีดาษวัว ฝีดาษลิง (Monkeypox) รวมไปถึงแพทย์และพยาบาลที่ต้องทำงานในบริเวณที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฝีดาษ

แต่เดิมนั้น คุณภาพของวัคซีนฝีดาษไม่แน่นอน เนื่องจากไม่ได้มีการประเมินประสิทธิผลและคุณภาพของวัคซีนนี้ วัคซีนนี้ที่ผลิตขึ้นและต้องขนส่งไปในที่ไกลๆ คุณภาพของวัคซีนนี้อาจมีแปรเปลี่ยนได้ จึงมีวิธีการบริหารวัคซีนนี้อีกวิธีหนึ่งคือจากแขนสู่แขน (Arm-to-Arm) เนื่องจากเมื่อมีการปลูกฝีแล้ว บริเวณที่ปลูกฝีจะเกิดตุ่มน้ำ/ตุ่มหนองขึ้น จึงใช้เชื้อที่อยู่บริเวณตุ่มน้ำนี้ ในการปลูกฝีให้กับอีกคนหนึ่งที่อยู่ไกลออกไป อย่างไรก็ดี วิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่สะอาด เนื่องจากอาจมีการถ่ายโอนเชื้อโรคอื่นๆให้แก่คนที่ได้รับเชื้อจากตุ่มน้ำนี้ได้ด้วย เช่นกรณีการเกิดการแพรระบาดของโรคซิฟีลิส (Syphilis) ในประเทศอิตาลีในเด็กจำนวน 41 คนที่ได้รับวัคซีนด้วยวิธีการปลูกฝีจากแขนสู่แขน

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเพียงชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในสหรัฐอเมริกา เป็นรูปแบบวัคซีนเชื้อเป็นชนิดผงแห้ง (Lyophilized, live-virus preparation)ของเชื้อไวรัสแวคเซีนเนีย (Vacciania) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษ มีปริมาณอย่างน้อย 108 PFU (pock-forming units)/มิลลิลิตร ให้วัคซีนโดยการวิธี Multi-puncture technique หรือการฉีดวัคซีนทีละน้อยๆลงบนผิวแบบตื้นๆหลายๆครั้ง

 

วัคซีนป้องกันฝีดาษมีข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้อะไรบ้าง?

วัคซีนป้องกันฝีดาษมีข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้ ดังนี้ เช่น

  • ควรหลีกเลี่ยงการให้วัคซีนนี้ในผู้ที่เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิด Eczema เนื่องจากไวรัสฝีดาษ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค Eczema Vaccinatum/ ภาวะที่เกิดผื่นผิวหนังอักเสบแพร่กระจายไปทั่วตัว
  • ไม่ควรให้วัคซีนนี้แก่สตรีตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อโรคฝีดาษได้
  • ไม่ควรให้วัคซีนนี้แก่บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อโรคฝีดาษได้ เช่น ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งในระยะแพร่กระจาย กลุ่มบุคคลที่เคยได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาอื่นๆที่มีฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกัน(เช่น ยาเคมีบำบัด) ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษา และผู้ที่ได้รับยาเสตียรอยด์ในขนาดสูงๆ
  • ไม่ควรให้วัคซีนนี้แก่ผู้ทิ่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
  • ไม่ควรให้วัคซีนนี้แก่ผู้ที่แพ้ยา/แพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีนนี้
  • ในช่วงที่ ไม่มี การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษ ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

วัคซีนป้องกันฝีดาษมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ภายหลังการให้วัคซีนฝีดาษไปแล้วประมาณ 2-5 วัน ผู้ป่วยจะเกิดตุ่มน้ำ/ตุ่มหนองขึ้นในบริเวณที่ได้รับวัคซีน ตุ่มน้ำอาจจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และใหญ่ที่สุดในช่วงวันที่ 8-10 แต่ขนาดตุ่มน้ำไม่ควรเกิน 1 เซนติเมตร(ซม.) หลังจากนั้นตุ่มน้ำจะแห้งและเกิดเป็นแผลตกสะเก็ด หลังจากนั้นก็จะเกิดเป็นรอยแผลเป็นเมื่อผ่านไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งในช่วงแรกของการได้รับวัคซีน ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้อาจเกิดอาการบวมแดงปวดตึงบริเวณที่ฉีด ซึ่งอาจจะมีอาการในลักษณะนี้ได้ยาวถึงประมาณ 3-10 วัน อนึ่ง ถ้าตุ่มน้ำขยายใหญ่มากกว่า 1 ซม. หรือ อาการต่างๆมากขึ้น ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดอาการข้างเคียง /ผลข้างเคียงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ แต่หากเกิดผลข้างเคียงที่มีความรุนแรง เช่น ผู้ป่วยอาจเกิดผื่นบริเวณใบหน้า เปลือกตา/หนังตา จมูก บริเวณอวัยวะเพศขึ้นได้

ผู้ป่วยบางรายที่มีประวัติเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิด Eczema อาจเกิดเป็นภาวะรุนแรงที่เรียกว่า Eczema vaccinatum ซึ่งเป็นการเกิดผื่นขึ้นตามตัว อาจเกิดเฉพาะจุด หรือเกิดทั่วร่างกาย หากมีความรุนแรงมาก อาจเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ดี หากผู้ที่ได้รับวัคซีนเกิดอาการที่ผิดแปลกไปจากปกติและอาการรุนแรง เช่น การเกิดผื่นบริเวณอื่นๆที่มิใช่บริเวณที่ได้รับวัคซีน มีอาการไข้สูงอย่างผิดปกติ หรือมีอาการแพ้ยา/แพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีน เช่น เกิดผื่นคันตามตัว เปลือกตา ริมฝีปากบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

 

วัคซีนป้องกันฝีดาษมีตารางการฉีดอย่างไร? ฉีดกระตุ้นเมื่อไร?

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเป็นการให้เพียงครั้งเดียว (Single Dose) อย่างไรก็ดี บุคลการที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาพัฒนา การแบ่งตัวของเชื้อไวรัสแวคซีเนีย ควรได้รับการฉีดกระตุ้นอย่างน้อยทุกๆ 10 ปี ส่วนบุคลากรที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสฝีดาษโดยตรงควรได้รับการฉีดกระตุ้นทุกๆ 3 ปี

ก่อนการฉีดวัคซีนนี้ ผู้ได้รับวัคซีนควรแน่ใจว่าไม่ได้ป่วยและไม่ได้มีอาการป่วยอยู่ ไม่มีโรคผื่นผิวหนังอักเสบ Eczema ไม่ได้ตั้งครรภ์ ไม่ได้มีโรคที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือใช้ยาหรือการรักษาใดๆทีทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ และหากลืมเข้ารับวัคซีนนี้ตามนัดหมาย ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ให้วัคซีนนั้นๆ โดยเร็วเพื่อรับการนัดหมายฉีดวัคซีนใหม่

 

วัคซีนป้องกันฝีดาษมีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/จัดจำหน่ายใดบ้าง?

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในปัจจุบันได้มาจากเชื้อไวรัสแวคซีเนีย (Vaccinia) มีชื่อการค้าว่า Dryvax® ผลิตโดยบริษัท Wyeth Laboratories, Inc. และชื่อการค้าอื่น เช่น ACAM2000 ผลิตโดยบริษัท Sanofi Pasteur Biologics LLC

ปัจจุบัน ไม่ได้มีการให้บริการฉีดวัคซีนนี้แก่บุคคลโดยทั่วไป เพราะดังกล่าวแล้วว่าโรคฝีดาษได้หมดไปจากโลกนี้แล้ว แต่เชื้อไวรัสแวคซีเนีย ยังมีการเก็บรักษาไว้เพื่อการศึกษาวิจัยอยู่ใน 2 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกาและประเทศรัสเซีย ซึ่งวัคซีนนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการควบคุมการใช้อย่างเคร่งครัดโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (CDC, U.S. The Centers for Disease Control and Prevention)

 

บรรณานุกรม

  1. Vaccinia (Smallpox) Vaccine: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP), 2001. Advisory Committee on Immunization Practices Membership List, March 2001
  2. Smallpox Vaccine. Committee on Infectious Diseases. AMERICAN ACADEMY OF PEDIATRICS. PEDIATRICS Vol. 110 No. 4 October 2002.
  3. Smallpox Vaccination: Information for Health Care Providers. CDC. https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/smallpox/hcp/index.html[2017,April8]
  4. Use of Vaccinia Virus Smallpox Vaccine in Laboratory and Health Care Personnel at Risk for Occupational Exposure to Orthopoxviruses — Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP), 2015 CDC.
  5. Smallpox vaccines. WHO. http://www.who.int/csr/disease/smallpox/vaccines/en/[2017,April8]
  6. องค์ควรความู้เรื่องโรคติดต่ออุบัติใหม่: โรคไข้ทรพิษ. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย http://www.pidst.net/userfiles/f26.pdf[2017,April8]