ลูวโคโวริน (Leucovorin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

วิตามินเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกายโดยช่วยส่งเสริมการทำงานของเซลล์หรือ ของอวัยวะต่างๆของร่างกายให้เป็นปกติ กรดโฟลิก (Folic acid หรือวิตามินบี 9) จัดเป็นสารในกลุ่มวิตามินบี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วิตามินบีรวม) ที่มีความสำคัญต่อร่างกายอีกชนิดหนึ่งโดยเป็นตัวช่วยสนับสนุนการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารรหัสพันธุกรรม/สารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA), การควบคุมการสร้างกรดอะมิโน (Amino Acid) ในเซลล์รวมไปถึงการพัฒนาและการเจริญเติบโตของเซลล์

กรดโฟลิกที่เรารับประทานนั้นไม่อยู่ในรูปที่สามารถออกฤทธิ์ได้ ต้องผ่านกระบวนการภายในร่างกายให้ได้มาซึ่งสารในรูปออกฤทธิ์ และยังมียาบางชนิดมีการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ กรดโฟลิก (Antifolate) เพื่อยับยั้งการแบ่งเซลล์และยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอเช่น ยาเมโธเทรกเซต (Methotrexate) ยาไพริเมธามีน (Pyrimethamine) ยาไทรเมโธพริม (Trimethoprim) เป็นต้น โดยยาดังกล่าวเหล่านั้นจะไปยับยั้งเอนไซม์ชื่อ ไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทส (Dihydrofolate Reductase; DHFR) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนให้กรดโฟลิกไปอยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ได้

การได้รับยาที่มีฤทธิ์ต้านการทำงานของกรดโฟลิกเกินขนาดเช่น ยาเมโธเทรกเซต อาจนำไปสู่ภาวะการขาดกรดโฟลิก ทางเภสัชกรรมจึงได้มีการพัฒนา ”ยาลูวโคโวริน (Leucovorin หรือ Leucovorin calcium หรือ Leucovorin sodium)” หรือชื่ออื่นๆอีกคือ “ยากรดโฟลินิก (Folinic acid หรือ Sodium folinate หรือ Calcium folinate)” หรือ “Citrovorum factor” หรือ “5-formyl tetrahydrofolate” ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ของกรดโฟลิกในรูปออกฤทธิ์ได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยเอนไซม์ DHFR และแพทย์ได้นำยาลูวโคโวรินมาใช้ในการแก้พิษจากยาหรือจากสารเคมีที่ต้านการทำงานของกรดโฟลิก นอกจากนี้ยังพบว่ายาลูวโคโวรินยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการรักษาของยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) และยาเทกาเฟอร์ (Tegafur) จึงมีการนำยาทั้งสองชนิดนี้มาใช้ร่วมกับยาลูวโคโวรินในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคมะเร็งบางชนิดอีกด้วยเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่

ยาลูวโคโวรินจัดเป็นยาจำเป็นที่ควรมีในบัญชีรายชื่อยาจำเป็นขององค์การอนามัยโลก (WHO Model List of Essential Medicines) และจัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายของไทยที่ต้องใช้ภายใต้การความดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

ยาลูวโคโวรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ลูวโคโวริน

ยาลูวโคโวรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ดังต่อไปนี้เช่น

ก. ใช้แก้พิษยาหรือพิษสารเคมีที่ต้านการทำงานของกรดโฟลิกเช่น ยาเมโธเทรกเซต (Methotre xate) ยาไทรเมโธพริม (Trimethoprim) และยาไพริเมธามีน (Pyrimethamine)

ข. ใช้แก้พิษที่เกิดจากผู้ป่วยได้รับยาเมโธเทรกเซตเกินขนาด

ค. ใช้ร่วมกับยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer)

ง. ใช้รักษาภาวะโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติที่เกิดจากการขาดกรดโฟลิก(Megaloblastic Anemia) ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยากรดโฟลิกชนิดรับประทานได้

นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาลูวโคโวรินในข้อบ่งใช้อื่นๆที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยารักษา(Unlabeled Use) เช่น

ก. ใช้เป็นยาเสริมการรักษาในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเมธานอล (Methanol, แอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่มีความเป็นพิษสูงที่ไม่สามารถนำมาบริโภคได้)

ข. ใช้ป้องกันการเกิดพิษต่อระบบเลือดจากยาไพริเมธามีน (Pyrimethamine) ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เอชไอวี/HIV

ยาลูวโคโวรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กรดโฟลิกมีความสำคัญในการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ/DNA และอาร์เอ็นเอ/RNA รวมไปถึงการสนับสนุนการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์

เมื่อร่างกายได้รับกรดโฟลิกจากแหล่งภายนอกเช่นอาหารแล้ว กรดโฟลิกซึ่งอยู่ในรูปไม่ออกฤทธิ์จะถูกเปลี่ยนเป็นสารรูปออกฤทธิ์โดยเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทส (Dihydrofolate Reductase; DHFR) ซึ่งยาบางชนิดออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของกรดโฟลิกได้โดยการยับยั้งเอน ไซม์ DHFR เช่น ยาเมโธเทรกเซต โดยทำให้กรดโฟลิกไม่สามารถเปลี่ยนเป็นรูปออกฤทธิ์ได้ เมื่อได้รับยาบางชนิดเหล่านี้เกินขนาดหรือเกิดพิษของยาเหล่านี้ เซลล์ของร่างกายจึงขาดกรดโฟลิกในรูปที่ออกฤทธิ์ได้

ยาลูวโคโวรินหรือยากรดโฟลินิกเป็นอนุพันธุ์ของกรดเททราไฮโดรโฟลิก (Tetrahydrofolic Acid) ซึ่งเป็นกรดโฟลิกในรูปที่พร้อมออกฤทธิ์ เมื่อมีการใช้ยาลูวโคโวริน ตัวยาจะมีฤทธิ์เสมือนเป็นกรดโฟลิกที่ออกฤทธิ์ได้ทันที ทำให้ระดับกรดโฟลิกในเซลล์ที่ต้องใช้ในกระบวนการแบ่งเซลล์หรือในการสังเคราะห์สารพันธุกรรมกลับคืนมาเป็นปกติในผู้ป่วยที่ขาดกรดโฟลิกในรูปออกฤทธิ์

นอกจากนี้ยังพบว่ายาลูวโคโวรินยังช่วยให้เอนไซม์ไทมิดีเลตซินเทส (Tymidylate syn thase, เอนไซม์ช่วยในการสร้างสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ) มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) และอนุพันธุ์ของยาฟลูออโรยูราซิลเช่น ยาเทกาเฟอร์ (Tegafur) ได้อีกด้วย

ยาลูวโคโวรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลูวโคโวรินที่มีการจัดจำหน่ายในประเทศไทย มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์และขนาดความแรงของยาดังต่อไปนี้

ก. ยาชนิดน้ำปราศจากเชื้อชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือด (Sterile Solution for Injection) ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (10 mg/mL)

ข. ยาชนิดยาเม็ดรับประทาน (Tablet) ขนาดความแรง 15 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ยาลูวโคโวรินมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ขนาดการรับประทาน/การใช้ยาลูวโคโวรินขึ้นกับหลายปัจจัยเช่น ข้อบ่งใช้ ภาวะของโรค น้ำหนักตัว และพื้นที่ผิวกาย (Body surface area) ของผู้ป่วยซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดยาให้กับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

การให้ยาลูวโคโวรินเป็นได้หลายรูปแบบเช่น การฉีดทั้งการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous; IV) การหยดเข้าหลอดเลือดดำ (IV Infusion) การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular; IM) และรูปแบบยาเม็ดรับประทาน การพิจารณาการใช้รูปแบบเภสัชภัณฑ์ใดในการให้ยานี้แก่ผู้ป่วยขึ้น กับข้อบ่งใช้และภาวะของผู้ป่วยเช่นกันซึ่งจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาลูวโคโวริน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรเช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพร โดยเฉพาะหากกำลังใช้ยาต้านชัก (เช่น ยาฟีโนบาร์บีทัล/Phenobar bital, ยาฟีไนทอยด์/Phenytoin, ยาพริมิโดน/Primidone), ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะเช่น ยาซัลฟาเมโธซาโซล-ไทรเมโธพริม (Sulfamethoxazole-Trimetroprim) ที่มีชื่อเรียกอื่นๆอีกเช่น แบคทริม/Bactrim, เซปทรา/Septra
  • ประวัติโรคโลหิตจาง (Anemia) เนื่องจากขาดวิตามินบี 12 (Vitamin B 12) หรือมีปัญหาด้านการดูดซึมวิตามินบี 12 ประวัติโรคไต หรือมีของเหลว/น้ำคั่งในช่องอก
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาลิวโคโวรินให้รับประทานโดยทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้เวลากับมื้อยาถัดไปแล้วให้ข้ามไปทานยามื้อถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาลูวโคโวรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลูวโคโวรินมักก่อผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) ได้น้อยเช่น ท้องเสีย ซึ่งหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือมีแนวโน้วว่าจะรุนแรงขึ้นให้รีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบมาโรงพยาบาลก่อนนัด

อย่างไรก็ดีหากผู้ป่วยรับประทานยานี้แล้วพบว่าเกิดอาการแพ้ยาเช่น มีผื่นคัน ริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา หรือใบหน้า บวม ร่วมกับอาการหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ยาลูวโคโวรินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลูวโคโวรินเช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ใช้ยานี้เพื่อรักษาภาวะโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่กว่าปกติที่เกิดจาก การขาดวิตามินบี 12 (Megaloblastic Anemia)
  • การใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยานี้เอง
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เพื่อรักษาภาวะที่ได้รับยาเมโธเทรกเซต (Methotrexate) เกินขนาด ควรได้รับการตรวจเลือดวัดระดับยาเมโธเทรกเซตต่อเนื่องตลอดการรักษาจนกว่าระดับยาเมโธเทรกเซตในเลือดจะต่ำกว่า 0.05 ไมโครโมลต่อลิตร (Micromole/liter)
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ร่วมกับยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) ควรได้รับการตรวจเลือดที่เรียกว่า ซีบีซี (CBC: Complete Blood Count) การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของไต (Kidney Function Test) และดูค่าเกลือแร่ (อิเล็กโตรไลต์/Electrolytes) อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลูวโคโวริน) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาลูวโคโวรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลูวโคโวรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆดังต่อไปนี้เช่น

ก. หลีกเลี่ยงการใช้ยาไทรเมโธพริม (Trimethoprim)/ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยาราลทิเทรกเซด (Raltitrexed/ยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง) ร่วมกับยาลูวโคโวริน เนื่องจากยาลูวโคโวรินจะไปหักล้างฤทธิ์ของยาทั้งสองทำให้ยาทั้งสองไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ

ข. ยาลูวโคโวรินจะเพิ่มฤทธิ์ของยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) และยาเทกาเฟอร์(Tegafur) ซึ่งเป็นยารักษาโรคมะเร็งเมื่อมีการใช้ร่วมกัน อาจต้องมีการเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยาฟลูออโรยูราซิลและยาเทกาเฟอร์มากขึ้น ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาฟลูออโรยูราซิลหรือ ยาเทกาเฟอร์ร่วมกับยาลูวโคโวรินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยาทั้งสองก็ได้ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

ค. ยาลูวโคโวรินจะทำให้ฤทธิ์หรือประสิทธิภาพของยาต้านชักลดลง เช่น ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin) ยาฟอสฟีไนทอยด์ (Fosphenytoin) ยาพริมิโดน (Primidone) ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาลูวโคโวรินต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ แพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนยาเมื่อมีความจำเป็นตามความเหมาะสม

ควรเก็บรักษายาลูวโคโวรินอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาลูวโคโวรินดังนี้เช่น

  • เก็บรักษายาลูวโคโวรินในภาชนะบรรจุที่มากับตัวยาจากผู้ผลิต
  • เก็บยาให้มิดชิด ปิดฝาให้สนิท
  • เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงเก็บยาในที่ที่มีแสงแดดส่องโดยตรงหรือที่ที่มีความชื้นสูงเช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำ ห้องครัว
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาลูวโคโวรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลูวโคโวรินมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กรดโฟลินิก (Folinic Acid) หรือชื่อดั้งเดิมคือ ซิโทรโวรุมแฟกเตอร์ (Citrovorum factor) ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในทางเภสัชกรรมจะใช้ในรูปของเกลือต่างๆ เช่น เกลือแคลเซียม ตัวยาจะมีชื่อว่า แคลเซียมโฟลิเนต (Calcium Folinate) หรือลูวโคโวรินแคลเซียม (Leucovorin Calcium) มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายในประเทศไทย ดังต่อไปนี้เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ฟีแล็กซิส (Filaxis)บริษัท เฟรเซนีอุส คาบี (ไทยแลนด์) จำกัด
ลูวโคเร็กซ์ (Leucorex)บริษัท อาร์เอ็กซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
แคลเซียมโฟลิเนต (Calcium Folinate) บริษัท อินโดไชน่า เฮลท์ แคร์
ไบโอวอริน (Biovorin) ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภิญโญฟาร์มาซี
ลูวโคโวริน แคลเซียม อินเจคชั่น ยู.เอส.พี. (Leucovorin Injection U.S.P.)บริษัท เฟรเซนีอุส คาบี (ไทยแลนด์) จำกัด
ไนริน (Nyrin) บริษัท เคนยากุ (ประเทศไทย) จำกัด
คาโฟเนต (Cafonate) บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Leucovovin Calcium, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:1201-3.
  2. Leucovorin. Chemocare. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Leucovorin.aspx [2016,April 23]
  3. MIMS Thailand https://www.mims.com/thailand/drug/info/calcium%20folinate/ [2016,April 23]
  4. Leucovorin. Drugbank http://www.drugbank.ca/drugs/DB00650 [2016,April 23]
  5. Summary of Product Characteristic. Sodiofolin 50 mg/ml, solution for injection. http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/4363 [2016,April 23]
  6. WHO Model List of Essential Medicines. http://apps.who.int/iris/bitstream/10665/93142/1/EML_18_eng.pdf?ua=1 [2016,April 23]
  7. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา http://wwwapp1.fda.moph.go.th/consumer/conframe.asp [2016,April 23]