ลิ้นแผนที่ ลิ้นลายแผนที่ (Geographic tongue)

บทความที่เกี่ยวข้อง

ลิ้นแผนที่ หรือลิ้นลายแผ่นที่ คือ ภาวะที่เกิดเป็นรอยปื้น (Patch) ขึ้นบนลิ้น ทำให้ลิ้นมีลักษณะที่มองดูเหมือนแผนที่ จึงเรียกว่า ลิ้นแผนที่ หรือลิ้นลายแผนที่

ลิ้นแผนที่ ไม่ใช่โรค เป็นเพียงภาวะผิดปกติ ที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่มีอันตรายใดๆ ไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง หรือเป็นสัญญาณเตือนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง

การที่ทำให้เกิดลักษณะเป็นแผนที่ เกิดจากการที่ปุ่มเนื้อเล็กๆ (Papillae) บนลิ้นที่ปกติทำให้ลิ้นเป็นสีชมพูและขรุขระ ฝ่อแบนราบลง มองดูเป็นพื้นเรียบ เป็นปื้น ที่มีขอบหยักไปมา ไม่เรียบ ปื้นจะออกสีแดง อาจเจ็บแสบได้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อสัมผัส อาหาร เครื่องดื่ม ยา บางชนิดที่มีรสจัด นอกจากนั้น ปื้นนี้ อาจเกิดเพียงปื้นเดียวหรือหลายปื้น และอาจเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่ง หรือมีขนาดเปลี่ยนแปลง ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงได้ตลอดเวลา

สาเหตุของลิ้นแผนที่ยังไม่ทราบ แต่อาจพบปัจจัยเสี่ยง คือ อาจพบร่วมกับโรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้ ภาวะซีด การขาดวิตามินเกลือแร่บางชนิด อาจสัมพันธ์กับรอบประจำเดือนจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง อาหารบางชนิดเช่น เนยชนิดที่เรียกว่า ชีส (Cheese) ภาวะเครียด และบางคนมีประวัติครอบครัวมีภาวะนี้

ลิ้นแผนที่ เป็นภาวะพบได้บ่อย พบได้ในทุกอายุ แต่มักพบในผู้ใหญ่ พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชาย

ภาวะนี้จะหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่บางคน (ส่วนน้อย) อยู่ได้เป็นเดือน

การดูแลตนเองคือ การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ไม่เครียด กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้อ รักษาความสะอาดช่องปากและลิ้น เช่น บ้วนปากทุกครั้งหลังการบริโภค รักษาช่องปากให้ชุ่มชื้น กินยาแก้ปวดเมื่อปวดเจ็บลิ้นมาก หลีกเลี่ยงสิ่งบริโภคที่ทำให้เกิดอาการเจ็บ (เช่น บุหรี่ สุรา อาหารรสจัด ยาสีฟันรสจัด หรือที่ทำให้แสบปาก)

แต่ถ้ามีอาการเจ็บลิ้นมาก ลิ้นบวม แดง กินได้น้อยลง หรือลิ้นแผนที่ไม่ดีขึ้นในเวลาประ มาณ 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่นอน

บรรณานุกรม

Geographic tongue http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001049.htm [2014,May17]