ลิ้นหัวใจ ทางเข้าออกของชีวิต (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ลิ้นหัวใจทางเข้าออกของชีวิต

อย่างไรก็ดี อาการที่ปรากฏจะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรุนแรงขนาดไหน เพราะบางคนอาจไม่แสดงอาการแต่เป็นโรคลิ้นหัวใจรุนแรงที่ต้องการการรักษา ในขณะที่บางคนอาจมีอาการแต่เป็นโรคลิ้นหัวใจเพียงเล็กน้อย

ในการตรวจวินิจฉัยโรค แพทย์จะฟังเสียงหัวใจที่ผิดปกติ ฟังเสียงปอดว่ามีของเหลวคั่งซึ่งแสดงได้ว่า หัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตได้ดีเท่าที่ควร หลังจากนั้นอาจมีการตรวจด้วย

  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography = Echo)
  • การใช้คลื่นเสียงตรวจการไหลเวียนของหลอดเลือด (Doppler ultrasound)
  • การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise stress echocardiogram)
  • การตรวจหัวใจผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal echocardiography = TEE)
  • การตรวจการทำงานของหัวใจที่เปลี่ยนไปด้วยเครื่อง Myocardial strain imaging
  • เครื่องตรวจแบบสามมิติ (3D echo)
  • การตรวจสวนหัวใจหรือการฉีดสี (Cardiac catheterization)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram / EKG / ECG)
  • การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging / MRI)

สำหรับการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงที่เป็น โดยหลักในการรักษาโรคลิ้นหัวใจมี 3 ประการ คือ การป้องกันลิ้นหัวใจไม่ให้เสื่อมมากขึ้น การบรรเทาอาการ และการซ่อมแซมลิ้นหัวใจ

ผู้ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจ ผู้ที่ทำการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ จะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นเยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis) ซึ่งเป็นกรณีที่รุนแรง ดังนั้นจึงควรป้องกันลิ้นหัวใจไม่ให้เสื่อมมากขึ้นด้วยการ

  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจอยู่
  • ดูแลสุขภาพฟันและเหงือกไม่ให้ติดเชื้อ และไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ
  • แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะก่อนทำการรักษาเพื่อป้องกันการตกเลือด (Bleeding)
  • กินยาตามแพทย์สั่ง
  • ไปพบแพทย์ตามนัดแม้จะไม่ปรากฏอาการ

ในส่วนของยาที่ใช้รักษาหรือลดโอกาสที่ลิ้นหัวใจจะเสื่อมมากขึ้น มีทั้งยาที่อาจหยุดภายหลังการผ่าตัดหรือยาที่ต้องกินไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องรู้จักชื่อยา ประโยชน์ และวิธีใช้ ซึ่งโดยทั่วไป ได้แก่

  • ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) – เพื่อลดน้ำส่วนเกินจากเนื้อเยื่อและกระแสเลือด ช่วยลดภาวะหัวใจวาย
  • ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Anti-arrhythmic medications) – เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ
  • ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators) – เพื่อช่วยลดการทำงานของหัวใจ ทำให้เลือดไหลไปไม่ย้อนกลับทางลิ้นหัวใจที่รั่ว
  • ยากลุ่ม ACE inhibitors – เป็นยาลดความดันโลหิตและรักษาภาวะหัวใจวาย
  • ยากลุ่ม Beta blockers – ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น รักษาความดันโลหิตไม่ให้สูงและลดการทำงานของหัวใจโดยช่วยให้หัวใจเต้นช้าลง ช่วยลดอาการใจสั่นในผู้ป่วยบางราย
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)

นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดเพื่อการซ่อมแซมหรือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หรือการซ่อมแซมโดยใช้วิธีการขยายลิ้นหัวใจพัลโมนิคตีบด้วยลูกโป่ง (Percutaneous balloon valvotomy)

แหล่งข้อมูล

1. Heart Valve Disease. http://www.webmd.com/heart-disease/guide/heart-valve-disease [2016, April 14].

2. Heart Valve Disease. https://my.clevelandclinic.org/services/heart/disorders/heart-valve-disease/valve-disease-types [2016, April 14].