ลิ้นหัวใจ ทางเข้าออกของชีวิต (ตอนที่ 3)

ลิ้นหัวใจทางเข้าออกของชีวิต

สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคลิ้นหัวใจนั้นยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่อาจเกิดจาก

โรคลิ้นหัวใจแต่กำเนิด (Congenital valve disease) - เป็นความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เกิดมาพร้อมกับตัวคนไข้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ลิ้นหัวใจมีขนาดผิดปกติทำให้ไม่สามารถเปิดปิดได้เหมือนปกติ เนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจไม่สมบูรณ์ มักเกิดกับลิ้นหัวใจห้องล่าง คือ ลิ้นหัวใจเอออร์ติคหรือลิ้นหัวใจพัลโมนิค

ภาวะมีลิ้นหัวใจเอออร์ติคสองลิ้น (Bicuspid aortic valve) - เป็นความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่มีมาแต่กำเนิดแทนที่จะมีสามแฉกตามปกติ จึงเป็นสาเหตุให้ลิ้นหัวใจติดไม่สามารถเปิดปิดได้ตามปกติหรือมีการรั่ว

โรคลิ้นหัวใจที่เกิดจากโรคอื่น (Acquired valve disease) – เป็นปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างลิ้นหัวใจอันเนื่องมากจากโรคต่างๆ หรือการติดเชื้ออื่นๆ เช่น

  • โรคไข้รูมาติก (Rheumatic fever) – ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (มักเกิดจากการที่คออักเสบ - Strep throat) มักเกิดในเด็กและทำให้เกิดการอักเสบลามมาที่ลิ้นหัวใจ อย่างไรก็ดีอาการอาจจะไม่ปรากฏให้เห็นจนกว่าจะอายุ 20-40 ปี
  • เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis) – ที่เกิดเมื่อมีการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่กระแสเลือดและทำลายลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจเป็นรูและเป็นรอยแผล สามารถทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว โดยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ระหว่างการทำฟัน การผ่าตัด การฉีดยาเข้าหลอดเลือด (IV drug use) หรือการติดเชื้ออย่างรุนแรง

ลิ้นหัวใจเคลื่อน (Mitral valve prolapse = MVP) – เป็นสาเหตุให้ลิ้นหัวใจไมตรัลล้มกลับไปยังหัวใจห้องบนซ้ายระหว่างที่หัวใจบีบตัว และอาจเป็นสาเหตุให้เนื้อเยื่อลิ้นหัวใจผิดปกติและรั่ว อย่างไรก็ดี กรณีนี้ไม่ค่อยพบ

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจได้อีก เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด (Heart attack) โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy) โรคซิฟิลิส (Syphilis) โรคความดันโลหิตสูง (High blood pressure) โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic aneurysms)

หรือบางกรณีอาจเกิดจากการมีก้อนเนื้อ (Tumors) การใช้ยาบางชนิด และรังสี (Radiation) ทั้งนี้ คนที่เป็นโรคลิ้นหัวใจมักจะมีภาวะหัวใจวาย (Heart failure) หรือ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) ด้วย

อาการของโรคลิ้นหัวใจ ได้แก่

  • หายใจลำบากหรือหายใจไม่ทัน ซึ่งสังเกตุได้จากตอนทำกิจกรรมปกติประจำวันหรือตอนนอนราบบนเตียง อาจต้องนอนหนุนสูงขึ้นเพื่อให้หายใจสะดวก
  • อ่อนเพลียหรือเวียนศีรษะ
  • แน่นหน้าอกเมื่อทำกิจกรรมหรืออยู่ในที่หนาว
  • อาการใจสั่น (Palpitation) รู้สึกเหมือนหัวใจเต้นเร็ว เต้นผิดปกติ
  • ข้อเท้า ขา หรือท้องบวม ที่เรียกว่า อาการบวมน้ำ (Edema)
  • น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว

แหล่งข้อมูล

1. Heart Valve Disease. http://www.webmd.com/heart-disease/guide/heart-valve-disease [2016, April 13].

2. Heart Valve Disease. https://my.clevelandclinic.org/services/heart/disorders/heart-valve-disease/valve-disease-types [2016, April 13].