ลิ้นหัวใจ ทางเข้าออกของชีวิต (ตอนที่ 2)

ลิ้นหัวใจทางเข้าออกของชีวิต
  1. ลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องบนขวาและห้องล่างขวา เป็นลิ้นหัวใจที่มี 3 แฉก จะเปิดในจังหวะหัวใจคลายตัว ทำให้เลือดไหลจากหัวใจห้องบนขวาสู่ห้องล่างขวา
  2. ลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและหัวใจห้องล่างซ้าย เป็นลิ้นหัวใจที่มี 2 แฉก จะเปิดในจังหวะหัวใจคลายตัว ทำให้เลือดไหลจากหัวใจห้องบนซ้ายสู่ห้องล่างซ้าย
  3. ลิ้นหัวใจพัลโมนิค (Pulmonic valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างขวาและเส้นเลือดแดงพัลโมนารี่ เป็นลิ้นหัวใจที่มี 3 แฉก รูปคล้ายเสี้ยวพระจันทร์ โดยมีด้านนูนหันไปทางเส้นเลือดแดงพัลโมนารี่ จะเปิดในจังหวะหัวใจบีบตัว ทำให้เลือดไหลจากหัวใจห้องล่างขวาไปเส้นเลือดแดงพัลโมนารี่
  4. ลิ้นหัวใจเอออร์ติค (Aortic valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและเส้นเลือดเอออร์ตา เป็นลิ้นหัวใจที่มี 3 แฉก รูปคล้ายเสี้ยวพระจันทร์ โดยมี 2 แฉกอยู่ด้านหน้า และ 1 แฉกอยู่ด้านหลัง จะเปิดในจังหวะหัวใจบีบตัว ทำให้เลือดไหลจากหัวใจห้องล่างซ้ายไปเส้นเลือดแดงเอออร์ตา

ลิ้นหัวใจอยู่ตรงทางออกของหัวใจทั้ง 4 จุด เพื่อให้แน่ว่าเลือดมีการไหลออกตามทางและไม่มีการไหลย้อนกลับ โดยเลือดจะไหลจากหัวใจห้องบน (Atria) ขวาและซ้าย ไปยังหัวใจห้องล่าง (Ventricles) โดยผ่านลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid valves) และ ลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral valves)

เมื่อเลือดเต็มหัวใจห้องล่าง ลิ้นหัวใจไตรคัสปิดและไมตรัลก็จะปิด เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังหัวใจห้องบนในขณะที่หัวใจห้องล่างบีบตัว

เมื่อหัวใจห้องล่างเริ่มบีบตัว ลิ้นหัวใจพัลโมนิค (Pulmonic valves) และ ลิ้นหัวใจเอออร์ติค (Aortic valves) จะเปิดออกและสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจห้องล่าง เลือดจากหัวใจห้องล่างขวาจะผ่านลิ้นหัวใจพัลโมนิคไปยังเส้นเลือดแดงพัลโมนารี (Pulmonary artery) และเลือดจากหัวใจห้องล่างซ้ายจะผ่านลิ้นหัวใจเอออร์ติคที่เปิดอยู่ไปยังเส้นเลือดแดงเอออร์ตา (Aorta) และส่วนที่เหลือของร่างกาย

โรคลิ้นหัวใจแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. ลิ้นหัวใจตีบ (Valvular stenosis) – เกิดเมื่อลิ้นหัวใจไม่เปิดเต็มที่เพราะมีการติดหรือเชื่อมกันของลิ้น ด้วยความแคบของลิ้นหัวใจจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้ไหลไปเลี้ยงร่างกาย สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจวาย (Heart failure) และอื่นๆ

ลิ้นหัวใจตีบสามารถเกิดขึ้นได้ที่ลิ้นหัวใจทั้ง 4 ตำแหน่ง ซึ่งจะเรียกชื่อต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิด ได้แก่ Tricuspid stenosis, Pulmonic stenosis, Mitral stenosis และ Aortic stenosis

2. ลิ้นหัวใจรั่ว (Valvular insufficiency / Valvular regurgitation / Valvular incompetence / leaky valve) – เกิดขึ้นเมื่อลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ทำให้เลือดไหลย้อนกลับได้ (Regurgitant flow) เป็นสาเหตุให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง

เช่นเดียวกัน ลิ้นหัวใจรั่วสามารถเกิดขึ้นได้ที่ลิ้นหัวใจทั้ง 4 ตำแหน่ง ซึ่งจะเรียกชื่อต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิด ได้แก่ Tricuspid regurgitation, Pulmonary regurgitation, Mitral regurgitation และ Aortic regurgitation

แหล่งข้อมูล

1. Heart Valve Disease. http://www.webmd.com/heart-disease/guide/heart-valve-disease [2016, April 12].

2. Heart Valve Disease. https://my.clevelandclinic.org/services/heart/disorders/heart-valve-disease/valve-disease-types [2016, April 12].