ลำไส้ใหญ่ (Large bowel)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ลำไส้ใหญ่

ลำไส้ใหญ่ (Large bowel หรือ Large intestine) ประกอบด้วยลำไส้ส่วนต่างๆ คือ ไส้ติ่ง ลำไส้ใหญ่ซีกัม ลำไส้ใหญ่โคลอน ลำไส้ใหญ่ส่วนลำไส้คด ลำไส้ตรง/ไส้ตรง และ ทวารหนัก/ช่องทวารหนัก(บางตำราไม่นับรวมทวารหนักว่าเป็นลำไส้ใหญ่ โดยจัดทวารหนักเป็นอีกอวัยวะต่างหาก) ทั่วไปลำไส้ใหญ่รวมทุกส่วนจะมีขนาดยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร(ไม่นับไส้ติ่ง) เส้นผ่าศูนย์กลางที่ไม่นับไส้ติ่งประมาณ 3 -10.5 เซ็นติเมตร(ซม.)ขึ้นกับว่าเป็นส่วนไหนของลำไส้ฯ โดยส่วนที่แคบที่สุดคือส่วนที่ต่อกับลำไส้เล็ก และส่วนกว้างสุดคือส่วน ซีกัม และลำไส้คด

หน้าที่: หน้าที่โดยรวมของลำไส้ใหญ่โดยเฉพาะส่วนโคลอน จะคล้ายคลึงกัน ได้แก่ การดูดซึมน้ำและเกลือแร่จากกากอาหาร รวมถึงวิตามินที่สร้างโดยแบคทีเรียประจำถิ่นของลำไส้ใหญ่(เช่น วิตามินเค วิตามินบี 9)กลับเข้าสู่ร่างกาย และบีบไล่กากอาหารเหล่านี้/อุจจาระ ให้ออกนอกร่างกายหลังการเก็บกักไว้ระยะหนึ่งที่ไส้ตรงและ ทวารหนัก ซึ่งทั่วไปอาหารจะค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ประมาณ 1-2วัน(บางคนอาจนานได้ถึง3วัน)

ก. ไส้ติ่ง (Vermiform appendix หรือ Appendix): ไส้ติ่ง เป็นอวัยวะมีลักษณะเป็นท่อ มีปลายตัน ห้อยออกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนซีกัม(Caecum)ซึ่งคือลำไส้ใหญ่ส่วนต่อกับลำไส้เล็กส่วนปลายที่เรียกว่าไอเลียม (Ileum) ดังนั้นตำแหน่งของไส้ติ่งคือ ‘ช่องท้องด้านขวาตอนล่างที่เรียกว่า McBurney's point’

ขนาดของไส้ติ่งมีรายงานยาวได้ตั้งแต่ 2–26 เซนติเมตร(แต่เฉลี่ยประมาณ 9 เซ็นติเมตร/ซม.) และเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.7-0.8 ซม. โดยเนื้อเยื่อบุด้านในไส้ติ่ง เป็นเนื้อเยื่อเมือกลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อเมือกของลำไส้ใหญ่ทั่วๆไป คือไม่มีรูปร่างคล้ายนิ้วมือ (Villi, วิลไล) แต่มีลักษณะที่พิเศษเฉพาะไส้ติ่งได้แก่ มีกลุ่มเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยท์ (Lymphocyte)อยู่เป็นกลุ่มๆในชั้นเนื้อเยื่อเมือกเรียกว่า ลิมฟอยด์ฟอลลิเคิล (Lymphoid follicles) ซึ่งภายในรูของไส้ติ่ง มักจะมีอุจจาระเข้าไปอุดอยู่ และรอบๆไส้ติ่งจะมีไขมันหุ้มอยู่เป็นบางส่วน

หน้าที่ของไส้ติ่ง คือ

1.หน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เพราะมีเม็ดเลือดขาวกลุ่ม ลิมโฟซัยท์ในชั้นเนื้อเยื่อเมือกจำนวนมาก ซึ่งเชื่อกันว่าไส้ติ่งเป็นอวัยวที่มีส่วนสำคัญในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในระยะที่อยู่ในครรภ์

2.หน้าที่ เก็บรักษาแบคทีเรียประจำถิ่นชนิดเป็นประโยชน์ต่อร่างกายไว้ไม่ให้ถูกทำลายหมดไปจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือจากพิษของแบคทีเรียชนิดทำให้เกิดท้องเสีย เช่น กรณีลำไส้ใหญ่ติดเชื้อ/ลำไส้ใหญ่อักเสบ

ข. ซีกัม (Cecum): ซีกัม เป็นส่วนลำไส้ใหญ่ที่ต่อจากลำไส้เล็กส่วนปลาย/ไอเลียม(Ileum) มีลักษณะคล้ายถุง ด้านนอกของซีกัมถูกคลุมด้วยเยื่อบุช่องท้องที่เรียกว่า เพอริโทเนียม (Peritoneum) ส่วนผนังด้านในบุด้วยเนื้อเยื่อเมือกที่ไม่มีวิลไลคล้ายเนื้อเยื่อเมือกของลำไส้ใหญ่ทั่วไป ทั้งนี้ ผนังซีกัมแบ่งเป็นชั้นๆเหมือนผนังลำไส้ใหญ่ทั่วไป ซึ่งเหมือนกับผนังลำไส้เล็กด้วย ได้แก่

  • เนื้อเยื่อเมือกชั้นมิวโคซา (Mucosa) อยู่ด้านใน/ชั้นในสุดของผนังลำไส้
  • ชั้นต่อขึ้นมา คือ ซับมิวโคซา (Submucosa) คือชั้นอยู่ใต้มิวโคซา
  • ชั้นกล้ามเนื้อเรียบ คือ ชั้นอยู่ตรงกลางของผนังลำไส้ต่อจากซับมิวโคซ่าลงไป และ
  • ชั้นเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอยู่นอกสุด ที่เรียกว่า เยื่อเลื่อม/ซีโรซา (Serosa)

หน้าที่ของซีกัม ไม่ใช่การย่อยอาหาร และไม่ใช่การย่อย/ดูดซึมสารอาหาร โดย หน้าที่หลักของซีกัมจะเหมือนกับลำไส้ใหญ่ส่วนอื่นๆ ได้แก่

1.รับอุจจาระที่มาจากลำไส้เล็กไอเลียม แล้วส่งต่อไปยังลำไส้ใหญ่ที่อยู่ด้านขวาของช่องท้องที่เรียกว่าส่วนแอสเซนดิ้งโคลอน (Ascending colon)

2.ดูดน้ำจากอุจจาระกลับเข้าสู่ร่างกาย

3.ดูดเกลือแร่ในอุจจาระกลับเข้าสู่ร่างกาย

4.ดูดวิตามินที่ละลายในไขมันเข้าสู่ร่างกาย เช่น วิตามิน เอ และ วิตามิน ดี

5.แบคทีเรียในซีกัมและในลำไส้ใหญ่จะย่อยสลายกากอาหารให้เป็นอุจจาระ

ค. ลำไส้ใหญ่โคลอน (Colon): ลำไส้ใหญ่โคลอน ที่มักเรียกสั้นๆว่า ‘โคลอน’ คือ ลำไส้ใหญ่ส่วนต่อมาจากซีกัมขึ้นไป ลักษณะภายนอก เป็นปล้องๆ (Haustrum) มีกล้ามเนื้อเรียบ 3 เส้นวิ่งขนานกันในแนวยาวตลอดความยาวของโคลอน (Tenia coli) โดยไขมันรอบโคลอน (Pericolic fat) จะมีลักษณะเป็นติ่ง (Appendices epiploicae) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของลำไส้ใหญ่ที่แตกต่างจากลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ส่วนนี้ นอกจากทำหน้าที่เป็นทางลำเลียงกากอาหารจากลำไส้เล็กเพื่อส่งผ่านออกนอกร่างกาย ลำไส้ใหญ่ส่วนโคลอนทั้งหมดนี้ ยังมีหน้าที่โดยรวมดังได้กล่าวในตอนบน(หน้าที่โดยรวมของลำไส้ใหญ่)

ลำไส้ใหญ่โคลอน แบ่งออกเป็น 5 ส่วนตามตำแหน่งที่อยู่ภายในช่องท้องได้แก่

1.แอสเซนดิงโคลอน (Ascending colon): เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนด้านข้างขวาของช่องท้อง ยาวประมาณ 20-25 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 ซม. เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนต่อขึ้นมาจากซีกัม ด้านหน้าของลำไส้ส่วนนี้ปกคลุมด้วยเยื่อบุช่องท้อง

ลำไส้ใหญ่แอสเซนดิงโคลอน อยู่ในช่องท้องด้านขวา ตลอดความยาวช่องท้องขอบด้านข้างขวา นับต่อจากซีกัมยาวขึ้นจนถึงบริเวณใต้ตับ แล้วจึงวกไปทางซ้าย กลายเป็นส่วนที่ขวางอยู่ในช่องท้อง(จากขวาไปซ้าย) ที่เรียกว่า ‘ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง/ทรานสเวิสโคลอน (Transverse colon)’ ซึ่งลำไส้ใหญ่จุดที่อยู่ใต้ตับ(อยู่ด้านขวาของช่องท้อง)แล้ววกไปทางซ้าย เรียกว่า ‘เฮพาติคเฟลกเชอร์ (Hepatic flexure)’

2.ทรานสเวิสโคลอน (Transverse colon) ยาวประมาณ 45 ซม. เริ่มตั้งแต่ส่วนบริเวณใต้ตับด้านขวาของช่องท้อง ที่เรียกว่า เฮปพาติคเฟลกเชอร์ วิ่งข้ามช่องท้องส่วนบนตลอดความยาว จนมาสิ้นสุดที่บริเวณม้ามทางด้านซ้ายของช่องท้อง แล้ววกกลับลงมายังด้านล่างตลอดขอบข้างซ้ายของช่องท้อง เรียกลำไส้ใหญ่ส่วนที่วกลงล่างซ้ายนี้ว่า “สปลีนิคเฟลกเชอร์ (Splenic flexure)” ซึ่งเรียกลำไส้ใหญ่ที่อยู่ตลอดด้านซ้ายของช่องท้องว่า เดสเซนดิ้งโคลอน (Descending colon)

3.เดสเซนดิ้งโคลอน ยาวประมาณ 15-20 ซม. เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนที่ต่อลงมาจากสปีนิคเฟลกเชอร์ วิ่งลงมาตลอดความยาวด้านข้างซ้ายของช่องท้องจนมาสิ้นสุดที่ลำไส้ใหญ่ส่วนที่เรียกว่า “ลำไส้คด (ซิกมอยด์โคลอน, Sigmoid colon)”

ง. ลำไส้คด หรือ ซิกมอยด์โคลอน หรือลำไส้ซิกมอยด์ (Sigmoid colon): มักเรียกสั้นๆว่า ‘ซิกมอยด์’ ยาวประมาณ 35–40 ซม. ลักษณะขดเป็นรูปตัวอักษร S เป็นลำไส้ส่วนต่อลงมาจากเดสเซนดิ้งโคลอน และไปสิ้นสุดที่ลำไส้ฯส่วนที่เรียกว่า “ลำไสตรง หรือ ไส้ตรง (เรคตัม, Rectum)”

ทั่วไป ผนังลำไส้คด แบ่งออกเป็นชั้นๆเช่นเดียวกับผนังลำไส้ใหญ่ทั่วไป แต่ จะมีชั้นกล้ามเนื้อเรียบหนากว่าลำไส้ใหญ่ส่วนอื่นทั้งหมดเพราะต้องออกแรงบีบอุจจาระเมื่อขับถ่ายอุจจาระ ซึ่งหน้าที่หลักของลำไส้คดคือ เป็นที่เก็บกักและเป็นทางผ่านของกากอาหาร/อุจจาระที่รวมถึงแก๊สต่างๆที่เกิดในลำไส้ฯ ก่อนส่งสิ่งเหล่านี้ผ่านไปยัง’ไส้ตรง’ และเป็นอวัยวะส่วนที่ช่วยให้ผายลมได้โดยไม่มีอุจจาระเล็ดตามมา

จ. เรคตัม หรือ ลำไส้ตรง หรือ ไส้ตรง (Rectum) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนปลายยาวประมาณ 12-15 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.5-7.5 ซม.โดยขนาดจะเล็ก แต่ใหญ่ขึ้นในส่วนปลายและเมื่อมีอุจจาระกักเก็บอยู่ ลักษณะเป็นท่อตรง โดยต่อจากลำไส้คดและไปสิ้นสุดที่’ทวารหนัก’ เป็นส่วนที่อุจจาระถูกดูดน้ำออกไปจนกลายเป็นก้อนแข็ง ก่อนที่จะถูกขับถ่ายออกนอกร่างกาย ดังนั้นหน้าที่หลักของไส้ตรงคือ เก็บกักอุจจาระก่อนปล่อยผ่านช่องทวารหนักออกนอกร่างกาย ทั่วไป ผู้ป่วยที่ผ่าตัดไส้ตรงออกไป จึงมักกลั้นอุจจาระไม่ได้

ผนังไส้ตรงจะเช่นเดียวกับลำไส้ใหญ่ทั่วไป แต่จะมีชั้นกล้ามเนื้อเรียบที่หนา เพื่อใช้ในการบีบไล่อุจจาระออกนอกร่างกาย

นอกจากนี้ ไส้ตรงเป็นส่วนลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน คืออยู่นอกช่องท้อง จึงส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองของไส้ตรงจะอยู่ในอุ้งเชิงกรานที่เรียกว่า ‘Pelvic node’ ขณะที่ต่อมน้ำเหลืองของลำไส้ใหญ่ที่อยู่สูงขึ้นไป(ส่วนอยู่ในช่องท้อง) ต่อมน้ำเหลืองจะอยู่ที่รอบๆท่อหลอดเลือดแดงใหญ่ที่เรียกว่า ‘Periaortic node’

ค. ทวารหนัก(Anal canal): ทวารหนัก เป็นช่องทางเดินอาหารที่เป็นส่วนล่างสุด/ท้ายสุดของระบบทางเดินอาหาร/ของลำไส้ใหญ่(บางท่าน ส่วนน้อย แยกเป็นอวัยวะต่างหาก ไม่รวมเป็นลำไส้ใหญ่) และเป็นทางเดินอาหารส่วนที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน เป็นส่วนต่อลงมาจาก’ไส้ตรง’ และจะเปิดออกสู่ภายนอกร่างกายทาง ‘ปากทวารหนัก(Anus)’ รอบๆปากทวารหนัก มีกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เป็นหูรูดที่อุ้มอุจจาระไว้ไม่ให้ไหลออกจนกว่าจะมีแรงเบ่ง หรือมีการกระตุ้นให้หูรูดนี้เปิดเพื่อการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ปริมาณของอุจจาระในทวารหนัก

ทวารหนักมีขนาดความยาวทั้งหมดประมาณ 3-5 ซม. และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-3 ซม. มีหน้าที่ในการกักเก็บอุจจาระและในการถ่ายอุจจาระ ดังนั้นถ้ามีพยาธิสภาพของทวารหนัก จะส่งผลให้เกิดการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ หรือ เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง

อนึ่ง โรคของลำไส้ใหญ่ที่พบได้บ่อย คือ ไส้ติ่งอักเสบ รองลงมาคือ ลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อซึ่งก่อให้เกิดอาการท้องเสีย หรืออุจจาระเป็นมูกเลือด (เช่น โรคบิด โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ) และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ส่วนโรคที่พบบ่อยของทวารหนัก ได้แก่ โรคริดสีดวงทวาร ส่วนโรคอื่นๆที่พบได้น้อยกว่า เช่น โรคทวารหนักอักเสบติดเชื้อ (รวมทั้งการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กรณีมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก) โรคแผลปริขอบทวารหนัก โรคฝีคัณฑสูตร และโรคมะเร็งทวาหนัก

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Large_intestine#Structure [2018,July14]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Appendix_(anatomy) [2018,July14]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Rectum [2018,July14]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Anal_canal [2018,July14]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Sigmoid_colon [2018,July14]
  6. http://www.nutrientsreview.com/articles/absorption.html [2018,July14]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/1990236-overview#showall [2018,July14]
  8. http://haamor.com/th/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/ [2018,July14]